Comparison of Ondansetron and Propofol to Prevent Postoperative Nausea and Vomiting After Minor Gynecologic Surgery : A Randomized, double-blind, Controlled Study
ชัยพฤกษ์ กุสุมาพรรณโญ, พงษ์สวัสดิ์ ธกูลสวัสดิ์, วุฒินันท์ ภู่มณี, สมัญญา ทิศาวิภาต*Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Srinakarinwirot Univesity, Bangkok 10300
บทคัดย่อ
อาการคลื่นไส้และอาเจียนเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยในระยะหลังผ่าตัดโดยเฉพาะหลังการผ่าตัดทางนรีเวช คณะผู้ทำวิจัยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการป้องกันอาการคลื่นไส้ อาเจียน ระหว่างยา 2 ชนิด คือ ondansetron และ propofol โดยทำการศึกษาในผู้ป่วยหญิงที่มารับการทำหมันหลังคลอด จำนวน 84 ราย และจัดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยวิธีสุ่มตัวอย่าง ดังนี้คือ กลุ่มควบคุม (24 ราย) กลุ่ม ondansetron (30 ราย) และกลุ่ม propofol (30 ราย) ผู้ป่วยในกลุ่มควบคุมได้รับการนำสลบทางหลอดเลือดดำด้วย thiopental 4 มก./กก. และรักษาระดับความลึกของการสลบด้วยการสูดดมก๊าซไนตรัสออกไซด์ร้อยละ66 ร่วมกับออกซิเจนร้อยละ 34 และ halothane 1-2 MAC ผู้ป่วยในกลุ่ม ondansetron จะได้รับยา ondansetron 4 มก. ทางหลอดเลือดดำก่อนการนำสลบด้วย thiopental ในขนาดเดียวกับกลุ่มควบคุม ส่วนผู้ป่วยในกลุ่ม propofol ได้รับการนำสลบทางหลอดเลือดดำด้วย propofol 2 มก./กก. ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มนี้จะได้รับยาเพื่อรักษาระดับความลึกของการสลบเช่นเดียวกับกลุ่มควบคุม ผู้ป่วยทุกรายไม่ได้รับยาใดๆ ก่อนการดมยาสลบและผ่าตัด นอกจากนี้ยังได้รับ fentanyl 1 ไมโครกรัม/กก. ก่อนการลงมีดผ่าตัด ในระยะหลังผ่าตัดทำการบันทึกอาการคลื่นไส้ ขย้อน หรืออาเจียนที่เกิดขึ้นในระยะ 24 ชั่วโมงแรก โดยวิสัญญีแพทย์ที่ไม่ทราบกลุ่มของผู้ป่วย พบว่าอุบัติการณ์ของอาการคลื้นไส้และอาเจียนในกลุ่มควบคุมมีร้อยละ 4.2 และ 8.3 ตามลำดับ สำหรับกลุ่ม ondansetron มีร้อยละ 6.7 และ 3.3 ส่วนกลุ่ม propofol มีร้อยละ 13.3 และ 10 อุบัติการณ์ของอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่ได้ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สรุปว่าอุบัติการณ์ของอาการคลื่นไส้และอาเจียนที่พบในกลุ่มประชากรที่ทำการศึกษามีค่าต่ำ และค่าที่ได้ไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบทั้ง 3 กลุ่ม
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2542, January-March
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 35-40