การศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเป็นชนิดกินตามข้อบ่งชี้กับตามแนวทางเวชปฏิบัติในผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปอดบวม
สุภิญญา อินอิว, กรมิกา วินิจกุล, สุประพัฒน์ สนใจพาณิชย์, บุญยิ่ง มานะบริบูรณ์*"Department of Pediatrics, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, 2 Prannok Road, Bangkok Noi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: +66-2-4195996, Fax: +66-2-4195677; E-mail: [email protected] Siriraj Hospital, Mahidol University, 2 Prannok Road, Bangkok Noi,"
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลการเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเป็นชนิดกินตามข้อบ่งชี้ของการศึกษากับตามแนวทางตามเวชปฏิบัติทั่วไปในผู้ป่วยเด็กอายุ 1 เดือน ถึง 5 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปอดบวมที่นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล
วัสดุและวิธีการ: การศึกษานี้เป็นการศึกษาทดลองแบบสุ่ม และผ่านการรับรองจากคณะกรรมการจริยธรรมในคน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 57 ราย ได้รับความยินยอมจากผู้ปกครอง โดยทั้งหมดถูกสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม โดยกลุ่มทดลองเป็นผู้ป่วยที่รับการรักษาโดยการเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเป็นชนิดกินตามข้อบ่งชี้คือ หลังไข้ต่ำกว่า 37.8 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 8 ชั่วโมง สามารถเปลี่ยนยาปฏิชีวนะจากชนิดฉีดเป็นชนิดกินภายใน 24 ชั่วโมง กลุ่มควบคุมเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา
ตามแนวทางเวชปฏิบัติทั่วไปคือ สามารถเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเป็นชนิดกินตามความเห็นของแพทย์ผู้รักษา ผลของการศึกษาดูจากอัตราการกลับมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาลภายใน 30 วัน ระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลและอัตราการเสียชีวิต โดยใช้ค่าทดสอบทางสถิติการทดสอบไคสแควร์ การทดสอบของฟิชเชอร์ การทดสอบค่าที การทดสอบของแมนน์วิทนีย์ และการทดสอบการเปรียบเทียบในแบบไม่ด้อยกว่า
ผลการศึกษา: การศึกษานี้ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของอายุ เพศ อาการแสดง ชนิดของยาปฏิชีวนะ อัตราการกลับมานอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และอัตราการตายระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม แต่พบว่าระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p = 0.019) นอกจากนี้ผลการรักษาในกลุ่มทดลอง พบว่าไม่ด้อยไปกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน (difference 20%; p<0.001)
สรุป: การรักษาผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคปอดบวมโดยการเปลี่ยนยาปฏิชีวนะชนิดฉีดเป็นชนิดกินเมื่อไข้ลงภายใน 24 ชั่วโมง พบว่ามีความปลอดภัย ให้ประสิทธิผลที่ดี และไม่ด้อยไปกว่าการรักษาตามแนวเวชปฏิบัติทั่วไป ทั้งยังสามารถลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาเช่นกัน
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, September
ปีที่: 98 ฉบับที่ 9 หน้า 858-863
คำสำคัญ
Non-inferiority, Switch therapy, Pediatric pneumonia, Childhood pneumonia, Community acquired pneumonia