การศึกษาปัจจัยที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของสตรีที่มีภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนในคลินิกนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
ภควดี หัตถนิรันดร์, รุจิรา วัฒนายิ่งเจริญชัย*, วชิระ สิงหะคเชนทร์, สมศัึกดิ์ สุทัศน์วรวุฒิภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลกระทบของภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนต่อคุณภาพชีวิตของสตรี และปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบดังกล่าว
วิธีการวิจัย: การศึกษาแบบภาคตัดขวางนี้ ทำการเก็บข้อมูลในสตรีที่มารับบริการที่คลินิกนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จำนวน 140 ราย บันทึกข้อมูลพื้นฐาน อาการระบบทางเดินปัสสาวะและความรุนแรงของภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน และประเมินคุณภาพชีวิตครอบคลุมทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ การทำงานบ้าน การออกกำลังกาย การสันทนาการ การเดินทาง การพบปะสังสรรค์นอกบ้าง อารมณ์และความรู้สึกคับข้องใจ โดยใช้แบบสอบถาม modified pelvic floor impact questionaires-short form (PFIQ 7 ) ฉบับภาษาไทย
ผลการศึกษา: กลุ่มศึกษามีอายุเฉลี่ย 67.5 ปี ร้อยละ 74.3 มีสถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 80 อาชีพแม่บ้าน ร้อยละ 99.3 เคยคลอดบุตรอย่างน้อย 1 ครั้ง ร้อยละ 50 มีระดับความรุนแรงของภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนอยู่ที่ระดับ 2 และร้อยละ 80 มีอาการผิดปกติทางระบบปัสสาวะร่วมด้วย เมื่อประเมินคุณภาพชีวิตทั้ง 7 ด้าน พบว่า คุณภาพชีวิตด้านการเดินทางมีผลกระทบมากที่สุด คะแนนคุณภาพชีวิตทั้ง 7 ด้าน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับความรุนแรงของโรค คะแนนคุณภาพชีวิตด้านการออกกำลังกาย การเดินทาง อารมณ์และความรู้สึกคับข้องใจ มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับจำนวนการคลอด
สรุป: ส่วนใหญ่ของสตรีที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกนรีเวชทางเดินปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ มีความรุนแรงของภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนโรคอย่างน้อยที่ระดับ 2 ขึ้นไป และมักมีอาการทางระบบปัสสาวะร่วมด้วย ภาวะอุ้งเชิงกรานหย่อนมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้ง 7 ด้าน โดยเฉพาะด้านการเดินทาง
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2558, July-September
ปีที่: 38 ฉบับที่ 3 หน้า 181-188
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Pelvic organ prolapse, คุณภาพชี่วิต, Associated factors, ภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน, ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง