การศึกษาเบื้องต้นแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมของผลสัมฤทธิ์การนวดกดจุดสะท้อนเท้ารักษาผู้ป่วยติดบุหรี่
อัมพร กรอบทอง*, ธนัท ดลอัมพรพิศุทธิ์, ทิพวัลย์ ธีรสิริโรจน์ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การศึกษาเบื้องต้นครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม และปกปิดข้อมูลการรักษาทั้งสองฝ่ายในผู้ป่วยที่ใช้บริการการรักษา ณ คลินิกฟ้าใสที่เข้าร่วมโครงการ 4 แห่ง จำนวน 74 คน ในช่วงระยะเวลา ตั้งแต่ 1 มิถุนายน 2555 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2556 แบ่งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมโดยวิธีแบ่งผู้ป่วยเป็นกลุ่มย่อย ให้แต่ละกลุ่มมีจำนวนผู้ป่วยเป็น 4 คน ทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับการชี้แจงถึงวัตถุประสงค์ ประโยชน์ และวิธีดำเนินการการนวดจุดสะท้อนเท้ากระทำตามจุดที่กำหนด สัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยผู้ผ่านการฝึกอบรม ผลการศึกษา เมื่อสิ้นสุดการทดลอง พบกลุ่มทดลองเลิกบุหรี่ได้ร้อยละ 47.60 ขณะกลุ่มควบคุมเลิกได้เพียงร้อยละ 12.50 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) การเลิกบุหรี่ได้ เกิดขึ้นหลังการนวดกดจุดสะท้อนเท้า 1 ครั้ง ถึง 11 ครั้ง เฉลี่ย 5 ครั้ง การเปลี่ยนแปลงหลังการนวดกดจุดสะท้อนเท้า รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไปร้อยละ 69.05 ในกลุ่มทดลองและร้อยละ 43.75 ในกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองมีระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ในลมหายใจออก ลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ไม่พบความสัมพันธ์ของการเลิกบุหรี่กับรสชาติของบุหรี่ที่เปลี่ยนไป ประเภทของบุหรี่ที่สูบ ระยะเวลาที่สูบ ความรุนแรงของการติดและสาเหตุของการติดบุหรี่ การติดตามผู้ป่วยกลุ่มทดลองที่ 1 เดือน 3 เดือน พบผลลัพธ์การเลิกบุหรี่ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 42.86 ทั้งสองครั้ง และลดเหลือร้อยละ 38.10 ที่ 6 เดือน สรุปได้ว่าการนวดกดจุดสะท้อนเท้ามีผลสัมฤทธิ์ในการรักษาผู้ป่วยติดบุหรี่โดยให้ผลหลังการบำบัดเฉลี่ยที่ 5 ครั้ง
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2558, January-April
ปีที่: 13 ฉบับที่ 1 หน้า 35-43
คำสำคัญ
Smoking cessation, Foot reflexology, tobacco addiction, การนวดกดจุดสะท้อนเท้า, โรคติดบุหรี่, การเลิกบุหรี่