ผลของการยืดกล้ามเนื้อแบบค้างและการสั่นสะเทือนร่างกายต่อองศาการเคลื่อนไหวและความสามารถของการเดินในเด็กสมองพิการ
ธีราภรณ์ ตุพิมาย, พรรณี ปึงสุวรรณ*, จารุวรรณ ใสสม, ลลิตา คุณะ, วิภาพร เปรี่ยมสุข, จิตลดา ประเสริฐนู
ศูนย์วิจัยปวดหลัง ปวดคอ ปวดข้ออื่นๆ และสมรรถนะของมนุษย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลของการยืดกล้ามเนื้อแบบค้างและร่วมกับการสั่นสะเทือนร่างกายต่อองศาการเคลื่อนไหวและความสามารถในการเดินของเด็กสมองพิการ ออกแบบการศึกษาเป็นแบบไขว้ (cross-over) อาสาสมัครเป็นเด็กสมองพิการอายุระหว่าง 6-18 ปี อายุเฉลี่ย 10.58 ± 2.35 ปี จำนวน 12 คน มีการสุ่มอาสาสมัครแบบแบ่งชั้นตาม เพศ อายุและระดับความสามารถด้านการเคลื่อนไหว (Gross Motor Function Classification System Expanded and Revised) ระดับ 1-3 และแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง กลุ่มละ 6 คน กลุ่มควบคุมจะได้รับการรักษาด้วยการยืนบนเตียง
ปรับระดับเป็นเวลา 40 นาที/ครั้ง ส่วนกลุ่มทดลองได้รับการรักษาโดยการยืนบนเตียงปรับระดับเป็นเวลา 30 นาที ต่อด้วยการสั่นสะเทือนร่างกายด้วยเครื่อง whole body vibration 10 นาที/ครั้ง ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการรักษา 5 วัน/สัปดาห์ เป็นระยะเวลาทั้งหมด 6 สัปดาห์ อาสาสมัครได้รับการวัดองศาการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ข้อเข่า และข้อเท้า โดยใช้โกนิโอมิเตอร์และประเมินความสามารถในการเดิน 1 นาทีโดยใช้ 1 minute walk test (1MWT) ก่อนและหลังการฝึก 1 ครั้งและ 6 สัปดาห์ การศึกษาพบว่า ผลทันทีหลังการรักษา 1 ครั้ง องศาการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นในทิศทาง hip flexion (P = 0.012) และ ankle dorsiflexion (P
= 0.032) ของขาข้างที่หดเกร็งมากกว่า และทิศทาง hip flexion (P = 0.019) ของขาข้างที่หดเกร็งน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มทดลอง แต่ไม่พบในกลุ่มควบคุม ในการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่พบการความแตกต่างทั้งองศาการเคลื่อนไหวและค่าเฉลี่ยของระยะทางของ 1MWT หลังการรักษา 6 สัปดาห์พบว่า องศาการเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทิศทาง ankle dorsiflexion (P = 0.002) ในกลุ่มควบคุม ส่วน knee flexion (P = 0.002) และ ankle dorsiflexion (P = 0.002) ในกลุ่มทดลองของขาข้างที่หดเกร็งมากกว่า และในทิศทาง knee flexion (P = 0.021) ในกลุ่มควบคุม และ ankle dorsiflexion (P = 0.006) ในกลุ่มทดลองของขาข้างที่หดเกร็งน้อยกว่า และพบว่าค่าเฉลี่ยระยะทางของ 1MWT หลังรักษาเพิ่มขึ้นประมาณ 4.5 เมตร (P = 0.02) ในกลุ่มทดลองเช่นกัน สำหรับความแตกต่างระหว่างกลุ่มพบว่า องศาการเคลื่อนไหวในกลุ่มทดลองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทิศทาง knee flexion 4.31% (P = 0.001), และ ankle dorsiflexion 23.61% (P = 0.056) ซึ่งมากกว่ากลุ่มควบคุม และค่าเฉลี่ยระยะทางของ 1MWT หลังการรักษาทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกัน สรุปการศึกษานี้พบว่าการรักษาด้วยการยืดกล้ามเนื้อแบบค้างร่วมกับการสั่นสะเทือนร่างกายสามารถเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวและความสามารถในการเดินของเด็กและวัยรุ่นสมองพิการประเภท spastic ได้ วิธีการนี้จึงมีความเหมาะสม เนื่องจากสะดวกในการใช้ ประหยัดเวลา และพึ่งพาผู้รักษาหรือกายภาพบำบัดน้อย สำหรับการศึกษาในอนาคตควรศึกษาผลระยะยาวสำหรับตัวแปรอื่น ๆ ต่อไป
 
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2558, May-August ปีที่: 27 ฉบับที่ 2 หน้า 204-215
คำสำคัญ
Cerebral palsy, Range of motion, Walking ability, One minute walk test, สมองพิการ, องศาการเคลื่ อนไหว, ความสามารถในการเดิน, การทดสอบการเดิน 1 นาที