ผลของรูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกในผู้ป่วยเด็กอายุ 6 เดือน - 3 ปี ต่อการใช้ยา Chloral Hydrate
วิภาวิน วัฒนะประการชัย*, ปวีณา จึงสมประสงค์, กาญจนา หวานสนิท, สุธีรา พฤทธิ์ไพศาล, ศิรินธร ถือแก้ว, อัครินทร์ นิมมานนิตย์หน่วยตรวจพิเศษหัวใจและหลอดเลือด ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอัตราการใช้ยานอนหลับ chloral hydrate ในผู้ป่วยเด็กกลุ่มที่ได้รับรูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกกับกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี ที่มารับการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกที่โรงพยาบาลศิริราช เลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 133 ราย สุ่มเข้าศึกษาแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มควบคุม จำนวน 66 ราย ได้รับการดูแลตามมาตรฐาน กลุ่มทดลองจำนวน 67 ราย ได้รับรูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง ผ่านผนังทรวงอกโดยการให้ข้อมูลเสมือนการตรวจจริง ผ่านกิจกรรมการเล่นและการเบี่ยงเบนความ
สนใจผู้ป่วยเด็ก แพทย์ผู้ตรวจเป็นผู้ประเมินผู้ป่วยเด็กในการได้รับยา chloral hydrate การวัดผลโดยเปรียบเทียบอัตราผู้ที่ได้รับยานอนหลับ ร่วมกับการประเมินเวลารวมที่ใช้ในการตรวจ ความพึงพอใจของแพทย์ พยาบาล และผู้ปกครอง วิเคราะห์ข้อมูลเปรียบเทียบทางสถิติด้วย Pearson’s Chi-Square test
ผลการวิจัย: พบว่าผู้ป่วยเด็กกลุ่มทดลองมีอัตราการใช้ยานอนหลับ chloral hydrate และมีระยะเวลารวมในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01) คะแนนความพึงพอใจในรูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกของแพทย์ พยาบาล และผู้ปกครองในกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .01)
สรปุ และข้อเสนอแนะ: รูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือในการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกไม่เพียงช่วยลดการใช้ยานอนหลับ chloral hydrate แต่ยังช่วยให้บุคลากรมีเวลาและมีประสิทธิภาพการดูแลมากกว่าตามมาตรฐานเดิม นอกจากนี้รูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือดังกล่าวยังสามารถให้ข้อมูลการตรวจที่จำเป็น ลดความเสี่ยงจากการใช้ยา และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น ส่งผลให้คุณภาพการดูแลดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงพยาบาลที่มีทรัพยากรบุคคลจำกัด
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2558, April-June
ปีที่: 33 ฉบับที่ 2 หน้า 68-76
คำสำคัญ
Pediatric, ผู้ป่วยเด็ก, cooperative protocol, echocardiogram, chloral hydrate, รูปแบบการส่งเสริมความร่วมมือ, การตรวจหัวใจเด็กด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอก, ยา Chloral Hydrate