ผลของการใช้พลาสติกห่อหุ้มร่างกาย (Plastic wrap) ทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ต่ออุณหภูมิกายทารกแรกเกิด
กรรณิการ์ ฤทธิสินธุ์, จีระนันท์ เป็กทอง, ทิพย์วรรณ ประสาสน์ศักดิ์*, พิจิกา ช้างเขียว, สรัลรัตน์ หล้าคำมีงานห้องคลอด กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลแพร่
บทคัดย่อ
บทนำ: ทารกที่คลอดก่อนกำหนดจะมีการทำงานของอวัยวะต่างๆ ไม่สมบูรณ์ มีพื้นที่ผิวกายต่อน้ำหนักตัว
ค่อนข้างมาก ผิวหนังบาง ไขมันใต้ผิวหนังน้อย ทำให้สูญเสียความร้อนได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำ การห่อตัวและศีรษะทารกด้วยพลาสติก จะช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อนทารกคลอดก่อนกำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ห้องคลอดโรงพยาบาลแพร่ อยู่ห่างจากหอผู้ป่วยไอซียูทารกแรกเกิดต้องใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 นาทีอาจทำให้ทารกแรกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องส่งไปยังหอผู้ป่วยไอซียูสูญเสียความร้อนระหว่างเดินทางได้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิกายทารกคลอดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ที่ใช้พลาสติกห่อหุ้มร่างกายและกลุ่มที่ดูแลตามปกติ ขณะย้ายจากห้องคลอดหรือห้องผ่าตัดไปยังหอผู้ป่วยไอซียูกุมารเวชกรรม
หรือบริบาลทารกแรกเกิด
วิธีการศึกษา: การวิจัย randomized control trial กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนอายุครรภ์ 34 สัปดาห์ ในห้องคลอดและห้องผ่าตัดโรงพยาบาลแพร่ จังหวัดแพร่ ระยะเวลาเก็บข้อมูลระหว่างเดือนตุลาคม
2555-กันยายน 2557 ผู้วิจัยจับสลากเพื่อสุ่มเข้ากลุ่มเป็นช่วง (Blocked randomization) โดยแต่ละช่วง (block) มีจำนวนผู้ป่วย 4 คน กำหนดให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีการใช้พลาสติกห่อหุ้มร่างกาย และการดูแลตามปกติ อย่างละ 2 ราย การจัดเรียงลำดับเข้ากลุ่มตามลำดับ 6 ลักษณะกลุ่มควบคุมให้การดูแลตามปกติ กลุ่มทดลองจะได้รับการห่อหุ้มศีรษะและร่างกายทารกด้วยพลาสติกใส (plastic wrap) ร่วมกับการดูแลตามปกติโดยทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการวัดอุณหภูมิกาย 4 ครั้ง ได้แก่ เวลาแรกคลอด เวลาขณะห่อตัวเสร็จ เวลาย้ายออกจากห้องคลอด หรือห้องผ่าตัดและขณะแรกรับ ณ หอผู้ป่วยไอซียูกุมารเวชกรรมหรือบริบาลทารกแรกเกิด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ exact probability test, t-test
ผลการศึกษา: อุณหภูมิกายเฉลี่ยทารกขณะแรกคลอดขณะห่อตัวเสร็จ และก่อนย้าย ไม่แตกต่างกันทั้ง 2 กลุ่ม
แต่อุณหภูมิเฉลี่ยในกลุ่มที่ได้รับการใช้พลาสติกห่อหุ้มร่างกาย (plastic wrap) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ คือ 36.9 องศาเซลเซียส และ 36.5 องศาเซลเซียส (p = 0.019) ทั้งนี้อุณหภูมิแวดล้อมของทารกในทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน อุณหภูมิกายทารกที่ลดลงในกลุ่มควบคุมจะลดลงเฉลี่ย 0.38 (± 0.26) องศาเซลเซียสมากกว่ากลุ่มทดลองซึ่งลดลงเฉลี่ย 0.01 (± 0.23) องศาเซลเซียส อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้พบทารกที่เกิด Hypothermia ในกลุ่มควบคุมร้อยละ 37.5 แต่ไม่พบในกลุ่มทดลอง (p = 0.018)
สรุป: การใช้พลาสติกห่อหุ้มร่างกายบริเวณศีรษะ และร่างกายทารกแรกเกิดที่คลอดก่อนกำหนดตลอดจน
ห่อหุ้มด้วยผ้าขนหนูที่แห้งและอุ่นขณะเคลื่อนย้ายทารกระหว่างแผนกช่วยป้องกันการสูญเสียความร้อน สามารถป้องกันภาวะอุณหภูมิกายต่ำได้
ที่มา
Journal of the Phrae Hospital ปี 2557, July-December
ปีที่: 22 ฉบับที่ 2 หน้า 11-19
คำสำคัญ
Hypothermia, ภาวะอุณหภูมิกายต่ำ, Preterm Birth, Plastic wrap, ทารกคลอดก่อนกำหนด, พลาสติกห่อหุ้มร่างกาย