คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่เป็นโรคพาร์กินสัน
อรวรรณ กูลจีรัง*, นารีรัตน์ สังวรวงษ์พนา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนามีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคพาร์กินสัน จำนวน 80 ราย ที่มารับการรักษา ณ คลินิกโรคพาร์กินสันและกลุ่มโรคความเคลื่อนไหวผิดปกติ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคพาร์กินสันระยะที่ 1-3 ระหว่างเดือนเมษายน ถึง กรกฎาคม พ.ศ. 2555 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน (PDQs) วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา
                ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีอายุเฉลี่ย 71.53 ปี (SD = 7.48) ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.8 มีระดับความรุนแรงของโรคพาร์กินสันในระยะที่ 3 มีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (M = 12.25, SD =7.19) เมื่อพิจารณาคุณภาพชีวิตรายด้าน 8 ด้าน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีคุณภาพชีวิตด้านการเคลื่อนไหวในระดับน้อย (M = 2.73, SD = 1.56) ส่วนคุณภาพชีวิตด้านแหล่งสนับสนุนทางสังคม (M = 0.34, SD = 0.76) และความรู้สึกฝังลึกในใจอยู่ในระดับดี (M = 0.70, SD = 1.29)
                ผลจากการศึกษาครั้งนี้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อบุคลากรทางสุขภาพ นักศึกษา และผู้มีความสนใจในการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคพาร์กินสัน
 
ที่มา
วารสารคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2558, July-September ปีที่: 23 ฉบับที่ 3 หน้า 86-96
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, elderly, ผู้สูงอายุ, Parkinson's disease, โรคพาร์กินสัน, คุณภาพชี่วิต