ผลของการบริหารการหายใจร่วมกับการจัดท่าศีรษะสูงต่อความเจ็บปวดและระยะเวลาการคลอดในผู้คลอดครรภ์แรก
ขวัญใจ เพทายประกายเพชร*, ฉวีวรรณ อยู่สำราญ, วรรณา พาหุวัฒนกร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม เพื่อศึกษาผลของการบริหารการหายใจร่วมกับการจัดท่าศีรษะสูงต่อความเจ็บปวดและระยะเวลาในระยะที่ 1 ของการคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้คลอดครรภ์แรกที่มารับบริการที่โรงพยาบาลราชบุรี มีอายุครรภ์อยู่ในช่วง 37-42 สัปดาห์ จำนวน 90 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 45 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยวีดิทัศน์ เครื่องมือวัดมุมของเตียง นาฬิกาจับเวลา เตียงคลอด แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการคลอด แบบวัดความเจ็บปวด และแบบบันทึกการเฝ้าคลอด ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2557 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ independent t-test ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความเจ็บปวดและค่าเฉลี่ยระยะเวลาในระยะที่ 1 ของการคลอด
น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 7.270, p < .001 และ t = 10.060, p < .001 ตามลำดับ)
จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าพยาบาลควรนำผลการวิจัยไปใช้เป็นแนวทางในการลดความเจ็บปวดและระยะเวลาในระยะคลอด โดยเตรียมตัวผู้คลอดตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาสที่ 3 และมีการทบทวนวิธีปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
 
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2558, March-August ปีที่: 26 ฉบับที่ 2 หน้า 52-62
คำสำคัญ
labor pain, Breathing exercise, Upright positioning, Labor duration, การบริหารการหายใจ, การจัดท่าศีรษะสูง, ความเจ็บปวด ระยะเวลาการคลอด