ผลของการประคบเย็นด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ ต่อความเจ็บปวดแผลฝีเย็บหลังคลอด
นริชชญา หาดแก้ว*, ปราณี ธีรโสภณคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยทางคลินิก เพื่อศึกษาผลของการประคบเย็นด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ ต่อความเจ็บปวดแผลฝีเย็บหลังคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาหลังคลอดปกติที่มีแผลฝีเย็บจากการตัดแบบเฉียงระดับที่ 2 โรงพยาบาลบ้านกรวด จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 44 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 22 คน กลุ่มทดลองได้รับการประคบเย็นบริเวณแผลฝีเย็บด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการประคบหลอกบริเวณแผลฝีเย็บด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ที่ไม่แช่เย็น เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ คู่มือการประคบเย็นด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาหลังคลอด และแบบประเมินความเจ็บปวดแผลฝีเย็บที่มีค่าความเชื่อมั่น .86 ประเมินความเจ็บปวดแผลฝีเย็บ 5 ครั้ง ได้แก่ ก่อนการประคบ หลังการประคบทันที หลังการประคบ 30 นาที, 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนมกราคม 2558 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน paired t-test และ independent t-test
ผลการวิจัยมีดังนี้
1. กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความเจ็บปวดแผลฝีเย็บหลังการประคบทันที หลังการประคบ 30 นาที, 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ น้อยกว่าก่อนการประคบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 7.492, p < .001; t = 5.159, p < .001; t = 4.365, p < .001 และ t = 5.159, p < .001 ตามลำดับ)
2. หลังการประคบทันที หลังการประคบ 30 นาที, 1 ชั่วโมง และ 2 ชั่วโมง ตามลำดับ กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความเจ็บปวดแผลฝีเย็บน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 3.200, p < .01; t = 2.317, p < .05; t = 1.806, p < .05 และ t = 2.304, p < .05 ตามลำดับ)
จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าควรนำการประคบเย็นด้วยแผ่นเจลโพลิเมอร์มาใช้ในการบรรเทาความเจ็บปวดแผลฝีเย็บในมารดาหลังคลอดต่อไป
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2558, September
ปีที่: 26 ฉบับที่ Suppl 1 หน้า 1-13
คำสำคัญ
Cold compression, Perineal pain, การประคบเย็น, Polymer gel pack, ความเจ็บปวดแผลฝีเย็บ, แผ่นเจลโพลิเมอร์