ผลของการให้คำแนะนำปรึกษาโดยเภสัชกรในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์: การทดลองทางคลินิกเชิงสุ่ม
นุจรี ประทีปะวณิช, รุ่งฟ้า สราญเศรษฐ์*, สุชาดา สูรพันธุ์, สุทธิพร ภัทรชยากุลPharmacy Department, Songklanagarind Hospital, Faculty of Medicine, Prince of Songkla University, Hat Yai, Songkhla, 90110, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของการให้คำแนะนำปรึกษาโดยเภสัชกรในผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในด้านความรู้ ปัญหาการปฏิบัติตัว ปัญหาจากการใช้ยา คุณภาพชีวิต และความพึงพอใจของผู้ป่วยวัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบ randomized controlled trial โดยคัดเลือกผู้ป่วยจากผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิกโรคเลือดโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ที่ได้รับยาต้านมะเร็งครั้งแรกและยินยอมเข้าร่วมงานวิจัย ผู้ป่วยกลุ่มทดลอง 30 ราย ได้รับคำแนะนำปรึกษาจากเภสัชกร ในขณะที่กลุ่มควบคุม 32 ราย ได้รับบริการตามปกติโดยไม่ได้รับคำแนะนำปรึกษาจากเภสัชกร ดำเนินการเก็บข้อมูลผู้ป่วยตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2548 ประเมินผลโดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์ ติดตามผลเมื่อผู้ป่วยมารับยาต้านมะเร็งครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 และครั้งที ่ 4 ซึ่งแต่ละครั้งมีระยะห่างกันประมาณ 1 เดือน ค่าความเที่ยงของแบบสอบถามทุกชนิดที่ใช้ในการวิจัยมีค่ามากกว่า 0.7 กำหนดนัยสำคัญที่ p < 0.05ผลการศึกษา: เมื่อผู้ป่วยมาพบเภสัชกรในครั้งที่ 2 และ 3 ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกครั้งและมากกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับคำแนะนำปรึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีปัญหาการปฏิบัติตัวและปัญหาจากการใช้ยาลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติทุกครั้ง และเมื่อสิ้นสุดการศึกษาผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีปัญหาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นกัน แต่ในด้านอัตราการเกิดและความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านมะเร็ง และในด้านคุณภาพชีวิตนั้นพบว่า ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของความพึงพอใจรวมมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73) ต้องการให้มีการให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับการใช้ยามากกว่า 4 ครั้งในระหว่างที่ได้รับการรักษาสรุป: การมีเภสัชกรให้คำแนะนำปรึกษาเกี่ยวกับยา จะสามารถเพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยสามารถทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ดีขึ้น ปัญหาการปฏิบัติตัวและปัญหาจากการใช้ยาลดลง และผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อบริการที่ได้รับ
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2549, กันยายน-ตุลาคม
ปีที่: 24 ฉบับที่ 5 หน้า 407-417
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, drug-related problems, lymphoma, patient knowledge, patient satisfaction, pharmacist counseling, self-care-related problems, การให้คำแนะนำปรึกษาโดยเภสัชกร, ความพึงพอใจของผู้ป่วย, ความรู้ของผู้ป่วย, ปัญหาการปฏิบัติตัว, ปัญหาจากการใช้ยา, มะเร็งต่อมน้ำเหลือง