การศึกษาเปรียบเทียบความเท่าเทียมของ labetalol และ diltiazem ในการควบคุมความดันโลหิตสูงช่วงฟื้นจากการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกสมองบริเวณ supratentorial
กษณา รักษมณี, กุลวดี สุทธิไวยกิจ, บุศรา ศิริวันสาณฑ์*, ปราณี รัชตามุขยนันต์, พิชยา ไวทยะวิญญู, วลัยพร พันธ์กล้า, อารีรัตน์ สาแก้วDepartment of Anesthesiology, Faculty of Medicine Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand; Phone: +66-2-4197978, Fax: +66-2-4113256; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ภาวะความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจเต้นเร็วในช่วงฟื้นจากการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดสมองจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนทางสมองหลังการผ่าตัด ปัจจุบันมีการใช้ยาหลายกลุ่ม เพื่อควบคุมความดันเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่นยาระงับความรู้สึก ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิตสูง
วัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปรียบเทียบความเท่าเทียมของ labetalol และ diltiazem ในการควบคุมความดันโลหิตสูงช่วงฟื้นจากการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกสมองตลอดจนผลข้างเคียงจากยาที่อาจจะเกิดขึ้น
วัสดุและวิธีการ: ผู้ป่วยทั้งหมด 184 ราย ที่เกิดภาวะความดันโลหิตสูงกว่า 140 มม.ปรอท ในช่วงฟื้นจากการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกสมองบริเวณ supratentorial จะได้รับการสุ่มเลือกโดยวิธี block randomization จากซองจดหมายปิดผนึกเพื่อเลือกให้ยาลดความดันโลหิตสูงระหว่าง labetalol หรือ diltiazem โดยผู้นิพนธ์ ผู้บ ริหารยา และผู้ป่วยไม่ทราบว่าได้ยาชนิดใด ผู้บริหารยาจะให้ยาครั้งละ 2.5 มิลลิกรัม ทุก 2-3 นาที เพื่อควบคุมความดันให้ตํ่ากว่า 140 มม.ปรอท โดยขนาดยารวมสูงสุดคือ 20 มิลลิกรัม ข้อมูลทั่วไปที่เกี่ยวกับผู้ป่วยและการผ่าตัด อัตราความสำเร็จในการควบคุมความดันโลหิต ตลอดจนขนาดของยาที่ใช้และอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงจากยาจะถูกนำมาวิเคราะห์ผลทางสถิติ
ผลการศึกษา: อัตราความสำเร็จในการควบคุมความดันโลหิตสูงในกลุ่มที่ได้รับยา labetalol เทียบเท่ากับกลุ่มที่ได้รับยา diltiazem (87.1% และ 80.2%) [p = 0.003, 95% CI = 6.88 (-2.06 ถึง 15.8)] จากการศึกษานี้ไม่พบความแตกต่างทางสถิติในขนาดของยาที่ใช้และอุบัติการณ์ของผลข้างเคียงจากยา ค่ากลางของขนาดยาที่ใช้เป็นมิลลิกรัม (ค่าตํ่าสุด-ค่าสูงสุด) ในกลุ่ม labetalol คือ 10 (2.5-20) มิลลิกรัม และในกลุ่ม diltiazem คือ 10 (2.5-20) มิลลิกรัม พบว่าราคายารวมที่ใช้ในการควบคุมความดันโลหิต โดย labetalol คิดเป็น 1/6 ของ diltiazem
สรุป: Labetalol เทียบเคียงได้กับ diltiazem ในการควบคุมความดันโลหิตสูงช่วงฟื้นจากการระงับความรู้สึกเพื่อการผ่าตัดเนื้องอกสมองบริเวณ supratentorial ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่เกิดจากยา
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2558, November
ปีที่: 98 ฉบับที่ 11 หน้า 1104-1111
คำสำคัญ
Craniotomy, Labetalol, Diltiazem, Emergence hypertension