ผลของยาโพรโพฟอลและยาคีโตฟอลต่อการป้องกันอาการกระวนกระวายหลังฟื้นจากยาดมสลบซีโวฟลูเรนในผู้ป่วยเด็ก
เบญจวรรณ ปิ่นศรศักดิ์กลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลปทุมธานี
บทคัดย่อ
อาการกระวนกระวายหลังฟื้นจากยาดมสลบซีโวฟลูเรนพบมากในเด็ก ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยเกิดความกังวลต่อผู้ดูแลได้ ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลของยาโพรโพฟอลและยาคีโตฟอลต่อการป้องกันการเกิดอาการกระวนกระวายหลังได้รับยาดมสลบซีโวฟลูเรนในผู้ป่ วยเด็กที่มารับการผ่าตัดต่อมอะดีโนทอนซิลโดยเป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบ prospective, double-blind, randomized, controlled trial ในผู้ป่วยเด็ก 90 ราย อายุ 3-9 ปี สุขภาพแข็งแรง มารับการระงับความรู้สึกแบบทั้งตัว เพื่อการผ่าตัดต่อมอะดีโนทอนซิล แบ่งผู้ป่วยเป็นสามกลุ่ม โดยวิธีสุ่ม กลุ่มละ 30 ราย โดยกลุ่มควบคุม (C) ได้รับสารน้ำ NSS 10 มล. กลุ่มโพรโพฟอล (P) ได้รับโพรโพฟอล 1 มก./กก. กลุ่มคีโตฟอล (K) ได้รับคีโตฟอล (เคตามีน 0.25 มก./กก. ผสมกับโพรโพฟอล 1 มก./กก.) ทางหลอดเลือดดำ 10 นาทีก่อนเสร็จการผ่าตัด มีการบันทึกสัญญาณชีพ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ระยะเวลาผ่าตัด ระยะเวลาดมยาสลบ และระยะเวลาที่ฟื้นจากการดมยาสลบ รวมทั้งระยะเวลาที่อยู่ในห้องพักฟื้น ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินอาการกระวนกระวายหลังฟื้นจากยาดมสลบด้วย Aono’s four-point scale และ Pediatric Anesthesia Emergence Delirium (PAED) scale มีการสอบถามความพึงพอใจจากผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยโดยใช้ verbal Numerical Rating Score (VNRS) ก่อนที่ผู้ป่วยจะออกจากห้องพักฟื้น ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยในกลุ่ม P และกลุ่ม K มีอุบัติการณ์การเกิดอาการกระวนกระวายหลังฟื้นจากยาดมสลบน้อยกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.02)
ความดันโลหิต และอัตราการเต้นของหัวใจเฉลี่ยระหว่างการผ่าตัดของกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง ไม่ต่างกันในแต่ละช่วงเวลา (p>0.05) แต่กลุ่ม P และกลุ่ม K ใช้เวลาในการฟื้นจากการดมยาสลบมากกว่ากลุ่ม C (p<0.001) ผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ที่ดูแลผู้ป่วยมีความพึงพอใจกลุ่ม P และกลุ่ม K มากกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติ (p<0.001) สรุปได้ว่า ยาโพรโพฟอลและยาคีโตฟอล สามารถลดอุบัติการณ์อาการกระวนกระวายหลังได้รับยาดมสลบซีโวฟลูเรน ในผู้ป่วยเด็กที่มารับการผ่าตัดต่อมอะดีโนทอนซิล แต่ผู้ป่วยฟื้นจากการดมยาสลบช้ากว่า กลุ่มควบคุม
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2559, January-February
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 128-136
คำสำคัญ
Sevoflurane, Propofol, Emergence agitation, อาการกระวนกระวาย, ซีโวฟลูเรน, ketofol, adenotonsillectomy, โพรโพฟอล, คีโตฟอล, การผ่าตัดต่อมอะดีโนทอนซิล