การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้เคมีบำบัดร่วมกับเมลาโทนินเปรียบเทียบกับการใช้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวในผู้ป่วยมะเร็งปอด
เอื้อมแข สุขประเสริฐ, อนัฆพงษ์ พันธุ์มณี, นุจรี ประทีปปะวนิช จอห์นส, ธนิดา อินทะวงษ์*
Social and Administrative Pharmacy, Faculty of Pharmaceutical Sciences Khon Kaen University, Khon Kaen, Thailand 42000; Tel 0 4320 2378 e-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้เคมีบำบัดร่วมกับเมลาโทนินเปรียบเทียบกับการใช้เคมีบำบัดเพียงอย่างเดียวในผู้ป่วยมะเร็งปอด ภายใต้มุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ วิธีการดำเนินการวิจัย: ประเมินต้นทุนประสิทธิผลและต้นทุนอรรถประโยชน์ของการใช้เคมีบำบัดร่วมกับเมลาโทนิน โดยใช้แบบมาร์คอฟแสดงสถานะการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่สร้างขึ้นโดยอาศัยความน่าจะเป็นของสถานะการรักษาจากโครงการวิจัย เภสัชจลนศาสตร์-เภสัชพลศาสตร์ของเมลาโทนิน ในการลดอาการข้างเคียงของเคมีบำบัด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็ง ในระหว่างรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด (Melatonin in Reduction of Chemotherapy – Induced Toxicity: Pharmacokinetics –pharmacodynamics and increase of quality of life of cancer patients receiving chemotherapy: MIRCIT trial) กำหนดกรอบระยะเวลาในการประเมิน 4 ปี โดยใช้ข้อมูลต้นทุนและข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตที่ได้จาก MIRCIT trial ผลการศึกษาวิจัย: อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental cost-effectiveness ratio, ICER) ของกลุ่มที่ได้รับเมลาโทนิน 10 มิลลิกรัมและ 20 มิลลิกรัมในกลุ่มที่ได้รับ First line, Second line และ Third line chemotherapy มีค่าสูงกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว โดยมีค่า 1,120,636.98 และ 844,621.29 บาท/เดือน ตามลำดับ กลุ่มที่ได้รับเฉพาะ First line chemotherapy มีค่าน้อยกว่า 3 เท่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว โดยมีค่า 81,311.23 และ 45,336.39 บาท/เดือน ตามลำดับ และต้นทุนอรรถประโยชน์มีค่า 151,558.46 และ 51,627.37 บาท/ปีสุขภาวะตามลำดับ สรุปผลการวิจัย: การใช้เคมีบำบัดร่วมกับเมลาโทนินในผู้ป่วยมะเร็งปอดมีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่อกลุ่มตัวอย่างได้รับเคมีบำบัดในช่วง First line chemotherapy แต่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์เมื่อกลุ่มตัวอย่างได้รับเคมีบำบัด Second line และ Third line chemotherapy ร่วมด้วย ควรมีการศึกษาการประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ของการใช้เคมีบำบัดร่วมกับเมลาโทนินโดยวิธีอื่นต่อไป
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2558, March ปีที่: 11 ฉบับที่ Suppl หน้า 133-139
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, ต้นทุนอรรถประโยชน์, Incremental cost-effectiveness ratio (ICER), Economic evaluation, Cost utility, การประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์, อัตราส่วนต้นทุนประสิทธิผลส่วนเพิ่ม