ผลลัพธ์ของการบริบาลทางเภสัชกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ในผู้ป่วยนอกโรคหืด ณ คลินิกอดบุหรี่ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
ศิริพงษ์ ทิพย์รัชดาพร*, พีรยา สมสะอาด, ภัทรินทร์ กิตติบุญญาคุณ
ฝ่ายเภสัชกรรมชุมชน โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร 47130
บทคัดย่อ
บทนำ: การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบ Randomized controlled trial มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการบริบาลทางเภสัชกรรมเพื่อการไม่สูบบุหรี่ในผู้ป่วยนอกโรคหืดที่สูบบุหรี่ ที่รับบริการ ณ
คลินิกอดบุหรี่ โรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร วิธีดำเนินการวิจัย:
ทำการศึกษาในผู้ป่วยโรคหืดจำนวน 60 คน แบ่งเป็น กลุ่มควบคุม จำนวน 30 คน และกลุ่มทดลองจำนวน 30
คน กลุ่มทดลองได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมเป็นเวลาทั้งสิ้น 6 เดือน ผลการวิจัย: หลังติดตาม 6 เดือน
พบว่า กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้เรื่องบุหรี่เฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงกว่ากลุ่มควบคุม คือ 12.50±1.25 คะแนน และ
9.13±1.87 คะแนน ตามลำดับ (p<0.05) จำนวนมวนบุหรี่เฉลี่ยของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.17±0.65 มวน และ 24.23±3.89 มวน ตามลำดับ, p<0.05) กลุ่มทดลองมีค่าสมรรถภาพการทำงานของปอด (Peak Expiratory Flow Rate: PEFR) เฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(419.67±56.30 ลิตรต่อนาที และ 380.00±43.87 ลิตรต่อนาที ตามลำดับ, p<0.05) หลังได้รับการบริบาลทาง
เภสัชกรรม คะแนนเฉลี่ยด้านคุณภาพชีวิตของกลุ่มทดลองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
(p<0.05) สรุปผลการวิจัย: การให้บริบาลทางเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วยนอกโรคหืดที่สูบบุหรี่สามารถแก้ไขปัญหา
ทางด้านสุขภาพที่เกิดจากการสูบบุหรี่ โดยผู้ป่วยที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้จะมีค่าสมรรถภาพการทำงานของปอด (PEFR) ดีขึ้น ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2558, October-December ปีที่: 11 ฉบับที่ 4 หน้า 65-82
คำสำคัญ
Asthma, โรคหืด, Outpatients, ผู้ป่วยนอก, Pharmaceutical care, cigarette smoking, smoking cessation clinic, บริบาลทางเภสัชกรรม, สูบบุหรี่, คลินิกอดบุหรี่