การเปรียบเทียบ Efficacy ของการระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าระหว่างวิธี single shot femoral nerve block combined with intrathecal morphine และวิธี patient - controlled analgesia : การทดลองโดยวิธีสุ่ม
พีรยา ชัยศิริกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่
บทคัดย่อ
ความเป็นมา: ความปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นความปวดที่รุนแรง การควบคุมความปวดอย่างมีประสิทธิภาพจะทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว และลดภาวะแทรกซ้อน ปัญหาของการใช้เครื่อง patient – controlled analgesia (PCA) คือ อุปกรณ์มีราคาแพง และมีผลข้างเคียงการใช้ intrathecal morphine (ITM) สามารถระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ดี แต่ยังมีผลข้างเคียงหากใช้ในขนาดสูง การทำ femoral nerve block (FNB) เป็นวิธีที่ง่าย มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงต่ำ
วัตถุประสงค์: การศึกษาในครั้งนี้ เพื่อการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและผลข้างเคียงระหว่างวิธี single shot femoral nerve block (SSFNB) combined with ITM และวิธี PCA
วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยแบบทดลองและเปรียบเทียบ ในผู้ป่วยจำนวน 40 คน ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าที่โรงพยาบาลนครพิงค์ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มแบบสุ่ม กลุ่มแรกได้รับการทำ spinal anesthesia ด้วย 0.5% hyperbaric bupivacaine 2.8 ml. with ITM 0.15 mg. ร่วมกับการทำ FNB ด้วย 0.25% bupivacaine 35 ml. (SSFNB with ITM) และได้รับยาแก้ปวดเพิ่มเติมเป็น intravenous tramadol ใน 24 ชั่วโมงแรก และ intravenous morphine หลัง 24 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ได้รับการทำ spinal anesthesia ด้วย 0.5% hyperbaric bupivacaine 2.8 ml. และได้รับการระงับปวดหลังการผ่าตัดโดยวิธี PCA ด้วย intravenous morphine ทำการเก็บข้อมูลหลังการผ่าตัดดังนี้ numerical rating scale (NRS) ที่ 0, 1, 6, 12, 24, 36 และ 48 ชั่วโมงหลัง การผ่าตัด ผลข้างเคียงได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียน คัน เวียนศีรษะ การบาดเจ็บต่อเส้นประสาทปัสสาวะคั่ง ความดันโลหิตต่ำ และ ภาวะกดการหายใจ สอบถามความพึงพอใจของผู้ป่วยที่ 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด
ผลการศึกษา: NRS ในกลุ่ม SSFNB with ITM น้อยกว่ากลุ่ม PCA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในชั่วโมงที่ 0 (0.35 vs 2.40, respectively; p-value < 0.001) และในชั่วโมงที่ 1 (0.60 vs 3.75, respectively; p-value < 0.00) หลังการผ่าตัด ส่วน NRS ในชั่วโมงที่ 6, 12, 24, 36 และ 48 หลังการผ่าตัดไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม อัตราการเกิดผลข้างเคียงหลังการผ่าตัดมีค่าใกล้เคียงกันทั้งสองกลุ่ม ยกเว้นอาการคัน ในกลุ่ม SSFNB with ITM มากกว่ากลุ่ม PCA อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.011) ในกลุ่ม SSFNB with ITM ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในระดับดีมาก มากกว่ากลุ่ม PCA (70% vs 40%, respectively)
สรุป : การใช้วิธี SSFNB with ITM ในการระงับปวดหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามีประสิทธิภาพดี และเพิ่มความพึงพอใจแก่ผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการใช้ PCA
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลมหาสารคาม ปี 2558, September-December
ปีที่: 12 ฉบับที่ 3 หน้า 73-83
คำสำคัญ
Single shot femoral nerve block combined with intrathecal morphine, postoperative pain controlled for total knee arthoplasty