ประสิทธิผลของโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงในสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านม:การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
Karin Olson, คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล*, ณัฐมา ทองธีรธรรม, ดวงรัตน์ วัฒนกิจไกรเลิศ, อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์, เดชาวุธ นิตยสุทธิ
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
แม้ในปัจจุบันมีผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น แต่สตรีรอดชีวิตมะเร็งเต้านมจำนวนมากยังคง มีภาวะสุขภาพและคุณภาพชีวิตไม่ดี การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมชนิดวัดซ้ำนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กง ต่อการรับรู้คุณค่าในตนเอง อาการเหนื่อยล้า ระดับคอร์ติซอล และคุณภาพชีวิต ในสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านม โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ สตรีไทย โรคมะเร็งเต้านมที่มาตรวจตามแพทย์นัดในระยะหลังการรักษาเสร็จสิ้นแล้วอย่างน้อย 1 ปี ณ คลินิกเต้านม โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 ราย โดยคัดเลือกตามเกณฑ์ ที่กำหนดแล้วสุ่มเข้ากลุ่มด้วยวิธีจับสลาก โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มๆละ 15 คนเท่ากัน คือกลุ่มที่ได้รับ โปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงร่วมกับการพยาบาลตามปกติ และกลุ่มที่ได้รับการพยาบาล ตามปกติอย่างเดียว เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย แบบประเมินการรับรู้คุณค่าในตนเอง แบบประเมิน อาการเหนื่อยล้าระดับคอร์ติซอล และแบบประเมินคุณภาพชีวิต โดยเก็บรวบรวมข้อมูลใน 3 ระยะคือ ก่อน ดำเนินโปรแกรมสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 12 หลังดำเนินโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มด้วยการทดสอบความแปรปรวนร่วมแบบมีตัวแปรควบคุม และ ความแปรปรวนร่วมแบบวัดซ้ำ
ผลการศึกษาพบว่าหลังจากใช้คะแนนตัวแปรตามก่อนดำเนินโปรแกรมเป็นตัวแปรควบคุม สตรีไทยมะเร็งเต้านมกลุ่มที่เข้าร่วมโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงมีการรับรู้คุณค่าในตนเอง อาการเหนื่อยล้า ระดับคอร์ติซอล และคุณภาพชีวิตแตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับการพยาบาลตามปกติอย่าง มีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อเปรียบเทียบสัปดาห์ที่ 6 และสัปดาห์ที่ 12 หลังดำเนินโปรแกรม ผลการศึกษานี้ แสดงถึงประสิทธิผลของโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงต่อการรับรู้คุณค่าในตนเอง อาการ เหนื่อยล้า ระดับคอร์ติซอล และคุณภาพชีวิตในสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านม พยาบาลควรสนับสนุนการนำโปรแกรมการบริหารกาย-จิตแบบไทชี่จี้กงนี้ไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติพยาบาล เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและ คุณภาพชีวิตที่ดีในสตรีไทยโรคมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเชิงทดลองในกลุ่มตัวอย่างที่ มีขนาดใหญ่ขึ้นในการศึกษาครั้งต่อไป
 
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2558, October-December ปีที่: 19 ฉบับที่ 4 หน้า 280-294
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, SELF-ESTEEM, Fatigue, อาการเหนื่อยล้า, Breast cancer survivors, คุณภาพชี่วิต, Cortisol, Psycho-neuro-immunology, Tai Chi Qi Qong, การรับรู้คุณค่าในตนเอง, คอร์ติซอล, ไท้ชี่จี้กง, ผู้รอดชีวิตมะเร็งเต้านม, ระบบจิตประสาทและภูมิคุ้มกัน