ผลของการในวัตกรรมผ้าห่มเย็นต่อการลดอุณหภูมิร่างกายในผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาทและสมองที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง
จิณฐิมา คูเรืองรัศมี, รณิดา สารวรางค์กุล, วาสนา ธนเศรษฐ*, อภิรดี เจริญจรรยากุล, อุไรวรรณ ทองบำเพ็ญ
งานห้องผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลสมุทรปราการ E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
 
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้นวัตกรรมผ้าห่มเย็นต่อการลดอุณหภูมิร่างกาย โดยเปรียบเทียบการใช้ผ้าห่มเย็นกับการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา ทำการศึกษาในกลุ่มผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาทและสมองที่มีอุณหภูมิร่างกายสูง > 38.5 oC จำนวน 20 คน โดยสุ่มเข้ากลุ่ม กลุ่มทดลองได้รับผ้าห่มเย็น และกลุ่มควบคุมได้รับการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดา กลุ่มละ 10 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนา ค่าสถิติทีไม่อิสระ และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม
ผลการวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยอุณหภูมิร่างกายหลังทดลอง ของกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม มีค่าลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 2.35, p < .05 และ t = 4.385, p <.05) และค่าเฉลี่ยของผลต่างอุณหภูมิร่างกาย
ก่อนและหลังทดลองเปลี่ยนแปลงลดลงมีค่ามากขึ้นเมื่อเวลาเพิ่มขึ้น โดยค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง
ลดลงหลัง 15 นาที 30 นาที และ 60 นาที ของกลุ่มทดลอง เท่ากับ 0.31 oC 0.60 oC และ 0.83 oC ตามลำดับ และกลุ่มควบคุมเท่ากับ 0.31 oC 0.55 oC และ 0.70 oC ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบผลของอุณหภูมิร่างกายที่ลดลงหลังวางผ้าห่มเย็น และเช็ดตัวลดไข้ไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ไม่พบภาวะแทรกซ้อนจากความเย็นได้แก่ ผิวหนังไหม้จากความเย็น อาการหนาวสั่น และหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Ventricular Fibrillation หลังใช้ผ้าห่มเย็น สรุปว่าผ้าห่มเย็นให้ผลในการลดไข้เทียบเท่าการเช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำธรรมดาและมีความปลอดภัย เป็นวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่มีปัญหาบาดเจ็บหลายระบบ จำกัดการเคลื่อนไหว และผู้ป่วยที่แพ้ยาลดไข้ วิธีใช้สะดวก ประหยัดเวลา ควรเป็นทางเลือกด้านการพยาบาลในภาวะที่ขาดแคลนบุคลากร
 
ที่มา
Journal of Boromarajonani College of Nursing, Bangkok ปี 2558, January-April ปีที่: 31 ฉบับที่ 1 หน้า 70-81
คำสำคัญ
innovation in cold pack blanket, hyperthermia, brain neurosurgery patient, นวัตกรรมผ้าห่มเย็น, อุณหภูมิร่างกายสูง, ผู้ป่วยศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง