การศึกษาเปรียบเทียบวิธีการป้องกันการสูญเสียความร้อนในทารกแรกเกิดครบกำหนด
รุ้งตวรรณ์ ช้อยจอหอ*, เยาวลักษณ์ เสรีเสถียร, ปัทมา บุญทับวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ สถาบันพระบรมราชชนก E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลอง (Randomized control trial) ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบวิธีป้องกันการ
สูญเสียความร้อนในทารกแรกเกิดครบกำหนด กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกแรกเกิดครบกำหนด เลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์ที่กำหนด สุ่มแบบง่ายเข้ากลุ่มควบคุม 24 ราย และกลุ่มทดลอง A 23 ราย และกลุ่มทดลอง B
21 ราย รวม 68 ราย เครื่องมือในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ ปรอทวัดอุณหภูมิทารก ปรอทวัดอุณหภูมิมารดาหมวกไหมพรม ผ้าห่อตัวทารก ชุดพลาสติก ถุงพลาสติกใส และพลาสติกครอบเตียงทารก เครื่องมือในการ
เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารก แบบบันทึกอุณหภูมิกายทารก และ
แบบบันทึกอุณหภูมิสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การทดสอบไคสแควร์ การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ
ผลการวิจัยพบว่าอุณหภูมิกายเฉลี่ยหลังได้รับการพยาบาล ภายหลังได้รับนมแม่ของทารกแรกเกิดครบกำหนดระหว่างกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลอง A และกลุ่มทดลอง B ไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับ .05 เมื่อ
เปรียบเทียบอุณหภูมิกายเฉลี่ยของกลุ่มทดลอง A กลุ่มทดลอง B และกลุ่มควบคุมโดยการวัดซ้ำ 3 ช่วงเวลาคือ หลังคลอด หลังได้รับนมแม่ และแรกรับที่หออภิบาลทารก พบว่า อุณหภูมิกายเฉลี่ยของทารกระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองทั้งสองไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับ .05 อุณหภูมิเฉลี่ยของทารกภายในกลุ่มในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกันมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองทั้งสองกลุ่มกับช่วงเวลาวัดที่แตกต่างกันไม่แตกต่างกันทางสถิติที่ระดับ .05
วิธีการป้องกันการสูญเสียความร้อนทั้ง 3 วิธี สามารถป้องกันการสูญเสียความร้อนให้ทารกแรกเกิดครบกำหนด พยาบาลควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับบริบท
ที่มา
Journal of Boromarajonani College of Nursing, Bangkok ปี 2558, May-August
ปีที่: 31 ฉบับที่ 2 หน้า 92-105
คำสำคัญ
ทารกแรกเกิดครบกำหนด, heat loss prevention method, full term newborn, วิธีการป้องกันการสูญเสียความร้อน