การเปรียบเทียบผลการรักษาในผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด บริเวณกล้ามเนื้ออัพเปอร์ทราพีเชียสด้วยการนวดไทยแบบราชสำนัก และเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น
ไชยยงค์ จรเกตุ, นันทกา อยู่คง*, อรอุมา บุณยารมย์
คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140
บทคัดย่อ
                จุดประสงค์ในการศึกษานี้ เพื่อศึกษาผลของการนวดไทยแบบราชสำนัก และเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น ที่มีต่อระดับความเจ็บปวด (visual analog scale; VAS) ระดับความรู้สึกกดเจ็บ (pressure pain threshold; PPT) และพิสัยการเคลื่อนไหวของคอ (cervical range of motion; CROM) ในผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณกล้ามเนื้ออัพเปอร์ทราพีเชียส (upper trapezius) จำนวน 20 คน อาสาสมัครจะจับฉลากเพื่อแบ่งเข้ากลุ่มนวดไทยแบบราชสำนัก และกลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น จากผลการวิจัยพบว่าภายหลังจากการรักษาครบ 2 สัปดาห์ ระดับความเจ็บปวดของกลุ่มนวดไทยแบบราชสำนัก และกลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (2.50±1.65, 2.70±1.89 คะแนน; p<0.05) สำหรับความรู้สึกกดเจ็บกลุ่มนวดไทยแบบราชสำนักมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (58.93±16.89 คะแนน; p<0.05) และเมื่อเปรียบเทียบ ระหว่างกลุ่มนวดไทยแบบราชสำนัก และกลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น พบว่ากลุ่มนวดไทยแบบราชสำนักมีระดับความรู้สึกกดเจ็บเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (0.848 คะแนน, 95% Cl อยู่ระหว่าง 0.177 ถึง 1.519; p=0.016) สำหรับพิสัยการเคลื่อนไหวของคอกลุ่มนวดไทยแบบราชสำนักสามารถเพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของคอได้มากกว่ากลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) ในท่าเงยคอ หมุนคอไปทางซ้าย และหมุนคอไปทางขวา จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่าการนวดไทยแบบราชสำนักสามารถลดอาการปวด เพิ่มระดับความรู้สึกกดเจ็บ และเพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของคอได้ดีกว่ากลุ่มเทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น ในผู้ที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณกล้ามเนื้ออัพเปอร์ทราพีเชียส
 
ที่มา
วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ปี 2557, July ปีที่: 14 ฉบับที่ 1 หน้า 155-166
คำสำคัญ
Myofascial pain syndrome, Upper trapezius, ปวดกล้ามเนื้อและพังผืด, Royal Thai traditional massage, Ischemic compression technique, อัพเปอร์ทราพีเซียส, การนวดไทยแบบราชสานัก, เทคนิคอิชคีมิกคอมเพรสชั่น