การประเมินต้นทุน-ประสิทธิผลโครงการเคลือบหลุมร่องฟันให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
บุญนภัส มีรัตน์*, เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTCE)
บทคัดย่อ
                งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความคุ้มค่าของโครงการเคลือบหลุมร่องฟัน ด้วยวิธีการวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผล และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับการเกิดโรคฟันผุในเด็กเพื่อพิจารณาว่าปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระทบต่อนโยบายในการจัดทำโครงการฯอย่างไร กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยนี้ คือ นักเรียนจากพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลลำลูกกาแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยตามการพิจารณาความลึกของหลุมร่องฟันโดยทันตแพทย์ ได้แก่กลุ่มเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 312 คน และกลุ่มที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 174 คน จาก 22 โรงเรียน ผลการวิเคราะห์พบว่า ค่าดัชนีโรคฟันผุของทั้ง 2 กลุ่มค่าใกล้เคียงกัน และกราฟต้นทุน-ประสิทธิผลส่วนเพิ่ม (Incremental Cost Effectiveness Ratio) ได้แสดงให้เห็นว่า หากประเมินจากค่าใช้จ่ายของโครงการเป็นหลักโครงการนี้ไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน สาเหตุเกิดจากวิธีการคัดเลือกเด็กเข้าร่มโครงการฯยังไม่สะท้อนถึงกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุอย่างแท้จริง ควรนำปัจจัยด้านศาสนาเข้ามาใช้เพื่อการพิจารณาด้วยอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม หากนำเอาประโยชน์ที่นักเรียนและผู้ปกครองได้จากการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาฟันในระยะยาวเข้ามาคำนวณด้วย ก็อาจได้ผลความคุ้มค่าที่เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังควรทำการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคฟันผุเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับโครงการทั้งทางด้านการพิจารณาเด็กเข้าร่วมโครงการฯ และการประยุกต์จัดทำกิจกรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ควรทำวิจัยต่อไป
 
ที่มา
วารสารสาธารณสุข มหาวิทยาลัยบูรพา ปี 2558, July-December ปีที่: 10 ฉบับที่ 2 หน้า 1-12
คำสำคัญ
Dental caries, Project evaluation, Impact evaluation, Incremental Cost Effectiveness Ratio, การประเมินโครงการ, การประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล, โรคฟันผุ