การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์ 2 ชนิดสำหรับให้ออกซิเจน (ท่อจมูกกับหน้ากาก) หลังการให้ยาระงับความรู้สึกทั้งตัว
มานี รักษาเกียรติศักดิ์*, หรินทร์ อัมพรโชติ, เสาวภาคย์ จำปาทอง, อรุโณทัย ศิริอัศวกุล, ธนาภรณ์ นภาโชติ, ลัดดา เพิ่มผลประเสริฐ, สุปราณี ปวงจันทร์Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital Mahidol University, 2 Wanglang Road, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: +66-2-4197989, +66-2-4113256; E-mail: [email protected], [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ 2 ชนิดสำหรับให้ออกซิเจน (ท่อจมูกกับหน้ากาก๗ ในการป้องกันภาวะออกซิเจนต่ำหลังการได้รับยาระงับความรู้สึกทั้งตัว
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาในผู้ป่วย 500 คน (อายุ 18-70 ปี) ที่มารับการระงับความรู้สึกทั้งตัวที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2556 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2557 ผู้ป่วยได้รับการแบ่ง 2 กลุ่ม โดยการสุ่มด้วยคอมพิวเตอร์หลังการระงับความรู้สึกทั้งตัวกลุ่มที่ 1 ได้รับออกซิเจนผ่านสายท่อจมูก 4 ลิตร/นาที กลุ่มที่ 2 ได้รับออกซิเจนผ่านหน้ากาก 5 ลิตร/นาที ทั้งสองกลุ่มได้ออกซิเจนความเข้มข้นใกล้เคียงกันคือ ร้อยละ 35 เกณฑ์คัดเลือกคือ การผ่าตัดไม่ฉุกเฉิน มีสภาพร่างกายตาม American Society of Anesthesiologists (ASA) 1-3 เกณฑ์คัดออก คือ มีโรคปอดที่ไม่คงที่ ดัชนีมวลกาย > 35 กิโลกรัม/ตารางเมตร มีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (oxygen saturation, SpO2) ต่ำกว่าร้อยละ 94 โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง สมองผิดปกติและมีปัญหาของจมูก มารับการผ่าตัดที่เสี่ยงสูงต่อการขาดออกซิเจนหลังผ่าตัด หาอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะออกซิเจนต่ำที่ห้องพักฟื้น ขณะที่ได้ออกซิเจนดังกล่าวโดยคำจำกัดความของภาวะออกซิเจนต่ำ คือ มีค่า SpO2 ต่ำกว่าร้อยละ 94 นานกว่า 30 วินาที
ผลการศึกษา: ผู้ป่วย 500 คนได้รับการวิเคราะห์ข้อมูล (249 คนในกลุ่มท่อจมูกและ 251 คนในกลุ่มหน้ากาก) ทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันในลักษณะทั่วไปและชนิดของการผ่าตัด ที่ห้องพักฟื้นไม่มีผู้ป่วยคนใดเกิดภาวะออกซิเจนต่ำ (non-inferiority trial, 95% CI -0.0152, 0.0152) ผู้ป่วยทุคนตื่นดีหรือง่วงเล็กน้อยและไม่พบภาวะแทรกซ้อนทางระบบหายใจ
สรุป: ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่ำที่มรับการผ่าตัดที่มีความเสี่ยงต่ำต่อการขาดออกซิเจน ออกซิเจนท่าจมูกหรือหน้ากากที่ให้ออกซิเจน ความเข้มข้นประมาณร้อยละ 35 มีประสิทธิภาพดีพอๆ กันในการป้องกันภาวะออกซิเจนต่ำที่ห้องพักฟื้น
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, March
ปีที่: 99 ฉบับที่ 5 หน้า 469-476
คำสำคัญ
PACU, General anesthesia, Oxygen, Nasal cannula, Simple mask, Hypoxemia, Desaturation