การศึกษาเปรียบเทียบระยะเวลาเริ่มออกฤทธิ์ของยา lidocaine 2% ผสมกับ bupivacaine 0.5% และการใช้ bupivacaine 0.5% อย่างเดียวในการทำ infraclavicular brachial plexus block โดยใช้อัลตราซาวด์สำหรับการผ่าตัด arteriovenous fistula ในผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย
อรวรรณ พงศ์รวีวรรณ*, นิภา อินเชื้อ, ชณัฐี กิจศิริพันธ์, เบ็ญจวรรณ์ คงเมือง, วรรณภา ติวิรัช
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, 2 Wanglang Road, Bangkoknoi, Bangkok 10700, Thailand; Phone: +66-81-4317599; E-mail: [email protected], [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลาเริ่มออกฤทธิ์ของ bupivacaine 0.5% 20 mL ผสมกับ lidocaine 2% 10 mL หรือ bupivacaine 0.5% เพียงอย่างเดียวในการออกฤทธิ์สกัดกั้นเส้นประสาทที่รับรู้ความรู้สึกในผู้ป่วย end stage renal disease ที่มารับการผ่าตัด arteriovenous fistula ภายใต้เทคนิคการให้ยาระงับความรู้สึก infraclavicular brachial plexus block โดยใช้อัลตราซาวด์ร่วมกับการกระตุ้นเส้นประสาท musculocutaneous และเส้นประสาท radial
วัสดุและวิธีการ: เป็นการศึกษาแบบไปข้างหน้าในผู้ป่วย 90 ราย อายุมากกว่า 18 ปี ที่มารับการผ่าตัด arteriovenous fistula ภายใต้การระงับความรู้สึก infraclavicular brachial plexus block โดยใช้อัลตราซาวด์ร่วมกับการกระตุ้นเส้นประสาท musculocutaneous และเส้นประสาท radial ผู้ป่วยได้รับการสุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่ม B (46 คน) ผู้ป่วยจะได้รับ  bupivacaine 0.5% 30 mL เพียงอย่างเดียวย กลุ่ม BL (44 คน) ผู้ป่วยจะได้รับ Bupivacaine 0.5% 20 mL ผสมกับ Lidocaine 2% 10 mL ยาผสมที่ได้คือ bupivacaine 0.33% และ Lidocaine 0.67% วิสัญญีพยาบาลผู้ได้รับการฝึกอบรมการทดสอบการทำงานของเส้นประสาทและไม่ทราบชนิดของยาชาที่ผู้ป่วยได้รับทดสอบความรู้สึกโดยใช้ pinprick แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 0 หมายถึง ไม่มีความรู้สึกอะไรเลย 1 หมายถึง มีความรู้สึกลดลง 2 หมายถึงมีความรู้สึกปกติ ระยะเวลาการเริ่มออกฤทธิ์ของยาชานับจากเวลาที่ฉีดยาชาเสร็จจนมีความรู้สึกระดับ 1 หรือ 0 บริเวณผิวหนังที่เลี้ยงโดยเส้นประสาทเส้นใดเส้นหนึ่งของ brachial plexus ตามลำดับ วิสัญญีพยาบาลทำการบันทึกปริมาณยาชาที่ผู้ป่วยได้รับเพิ่มเติมระหว่างการผ่าตัด ระยะเวลาการออกฤทธิ์ระงับความรู้สึกและระยะเวลาการหย่อนตัวของกล้ามเนื้อ ความพึงพอใจของศัลยแพทย์ผู้ทำผ่าตัดจะถูกถามเมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด และความพึงพอใจของผู้ป่วยจะถูกถามเมื่อ 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด โดยแบ่งความพึงพอใจออกเป็น 6 ระดับ คือ 0 หมายถึงไม่พึงพอใจ ถึงระดับที่ 5 คือ พึงพอใจมากที่สุด
ผลการศึกษา: ไม่พบความแตกต่างของระยะเวลาการเริ่มออกฤทธิ์ของยาชา ระยะเวลาการออกฤทธิ์ของยาชา และความพึงพอใจของศัลยแพทย์และผู้ป่วยในกลุ่มที่ใช้ยาผสมระหว่าง lidocaine 2% กับ bupivacaine 0.5% เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้  bupivacaine 0.5% เพียงอย่างเดียว
สรุป: การใช้ยาผสมระหว่าง lidocaine 2% 10 mL กับ 0.5% bupivacaine 20 mL ในการให้ยาระงับความรู้สึก infraclavicular brachial plexus block โดยใช้อัลตราซาวด์ร่วมกับการกระตุ้นเส้นประสาท musculocutaneous และเส้นประสาท radial สำหรับการผ่าตัด arteriovenous fistula ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายไม่ช่วยให้ระยะเวลาการเริ่มออกฤทธิ์ของยาชาสั้นลง เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้  bupivacaine เพียงอย่างเดียว
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, March ปีที่: 99 ฉบับที่ 5 หน้า 589-595
คำสำคัญ
Bupivacaine, Lidocaine, esrd, Local anesthetics mixture, Ultrasound-guided infraclavicular brachial plexus block, Onset, AV fistula, Nerve stimulation