ต้นทุน-ประสิทธิผลของการให้บริการยาละลายลิ่มเลือดในการรักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเอสทียกในโรงพยาบาลชุมชน
สุรศักดิ์ เสาแก้ว*, ปิยะ หาญวรวงศ์ชัยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
บทคัดย่อ
โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันชนิดเอสทียก (ST segment elevation myocardial infarction: STEMI) เป็นสาเหตุการตายที่สำคัญ การเปิดหลอดเลือดหัวใจให้เร็วที่สุด โดยการขยายหลอดเลือดหัวใจจะช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ แต่ในบริบทที่ไม่สามารถทำการขยายหลอดเลือดหัวใจ การให้ยาละลายลิ่มเลือดก่อนส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลที่สูงขึ้นจึงมีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การให้บริการดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากสภาวะเลือดออกและมีค่าใช้จ่ายในการให้บริการเพิ่มขึ้น ดังนั้นข้อมูลต้นทุน-ประสิทธิผลของการให้บริการยาละลายลิ่มเลือด จึงมีความสำคัญในการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย
การศึกษานี้เป็นการประเมินต้นทุน-ประสิทธิผล เปรียบเทียบระหว่าง การให้บริการยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลชุมชนแล้วส่งต่อไปยังสถานพยาบาล ที่สามารถทำการขยายหลอดเลือดหัวใจได้ (facilitated percutaneous coronary intervention: FPCI) กับการส่งผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาล เพื่อทำการขยายหลอดเลือดหัวใจโดยตรง (primary percutaneous coronary intervention: PPCI) โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ (Markov model) วิเคราะห์ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel จากมุมมองทางสังคม (social perspective) และมุมมองระบบสุขภาพ (health system perspective) ภายใต้กรอบเวลาตลอดชีวิต (life long time horizon) โดยใช้ข้อมูลจากการทบทวนวรรณกรรม และจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
ผลการศึกษา พบว่าการให้บริการยาละลายลิ่มเลือด (FPCI) ในโรงพยาบาลชุมชนนั้น มีต้นทุนลดลง ในขณะที่ประสิทธิผลเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นทางเลือกที่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์
ดังนั้น หากโรงพยาบาลชุมชนในประเทศไทยสามารถให้บริการยาละลายลิ่มเลือดได้อย่างแพร่หลาย ก็จะมีผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากคุณภาพชีวิตโดยรวมที่ดีขึ้น ภายใต้ภาระรายจ่ายในภาพรวมของระบบที่ลดลง ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลชุมชนต่างๆ ควรพิจารณาสนับสนุนให้มีการบริการยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลชุมชนที่มีความพร้อม และพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ โดยเฉพาะกำลังคนและงบประมาณให้กับพื้นที่ที่มีความต้องการบริการดังกล่าว
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2559, January-March
ปีที่: 10 ฉบับที่ 1 หน้า 43-54
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, Community hospital, โรงพยาบาลชุมชน, thrombolysis service, ST segment elevation myocardial infarction, การให้บริการยาละลายลิ่มเลือด, กล้ามเนื้อหัวใจตายชนิดเอสทียก