ผลของการประคบเต้านมด้วยลูกประคบเจลโพลิเมอร์แบบอุ่นชื้นต่อระยะเวลาการหลั่งน้ำนมครั้งแรกในมารดาหลังคลอดครรภ์แรก
นิตยา พันธ์งาม*, ปราณี ธีรโสภณ, สุพรรณี อึ้งปัญสัตวงศ์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยทางคลินิก ชนิดสุ่ม แบบมีกลุ่มเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาผลของการประคบ
เต้านมด้วยลูกประคบเจลโพลิเมอร์แบบอุ่นชื้นต่อระยะเวลาการหลั่งน้ำนมครั้งแรกในมารดาหลังคลอดครรภ์แรกกลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาครรภ์แรกที่เข้ารับการคลอดและได้รับการดูแลหลังคลอดที่ตึกสูติกรรม 1 และ 2 โรงพยาบาลขอนแก่น จำนวน 50 คน แบ่งออกเป็นกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 25 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยลูกประคบเจลโพลิเมอร์แบบอุ่นชื้น แบบบันทึกข้อมูลทั่วไป และแบบประเมินระดับการไหลของน้ำนมที่มีค่าความเชื่อมั่น .80 กลุ่มทดลองได้รับการประคบเต้านมด้วยลูกประคบเจลโพลิเมอร์แบบอุ่นชื้นร่วมกับการพยาบาลตามปกติ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติ ดำเนินการทดลองและเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนพฤศจิกายน 2557 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติความถี่ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน independent t-test และ Mann-Whitney U test
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยระยะเวลาการหลั่งน้ำนมครั้งแรก และที่ระดับคะแนน 2 สั้นกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (U = 168.500, p < .01 และ t = 3.167, p < .01 ตามลำดับ)
จากการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลมารดาหลังคลอดควรนำการประคบเต้านมด้วยลูกประคบเจลโพลิเมอร์แบบอุ่นชื้นไปประยุกต์ใช้ เพื่อส่งเสริมให้มารดาหลังคลอดมีการหลั่งน้ำนมที่เร็วขึ้นซึ่งจะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบผลสำเร็จต่อไป
ที่มา
วารสารวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี ปี 2559, September-February
ปีที่: 27 ฉบับที่ 1 หน้า 28-38
คำสำคัญ
การประคบร้อน, มารดาหลังคลอด, Postpartum mothers, Milk production, Hot compression, Bre astfeeding, การหลั่งน้ำนม, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่