การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนโดยวิธีผ่าตัดและวิธีสลายนิ่ว
ชญาดา ศิริภิรมย์ภาควิชาบริหารงานสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบ การบำบัดรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบนโดยวิธีการผ่าตัดและวิธีสลายนิ่วเกี่ยวกับต้นทุน-ประสิทธิผล กลุ่มผู้ป่วยตัวอย่างได้มาจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะส่วนบน ในช่วงเดือนกันยายน 2532 ถึงมิถุนายน 2533 จำนวน 214 คน นำมาเลือกเป็นตัวแทนโดยเกณฑ์ของแพทย์ในแผนกศัลยกรรมยูโรวิทยา โรงพยาบาลราชวิถีและเลือกขนาดนิ่วมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 3 เซนติเมตร ได้ผู้ป่วยที่สามารถรับการรักษาได้ทั้งวิธีผ่าตัด และวิธีสลายนิ่ว จำนวน 95 คน ซึ่งแบ่งเป็นรับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด 49 ราย และวิธีสลายนิ่ว 46 ราย โดยการวินิจฉัยของแพทย์ 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลการรักษา การติดตามผลการรักษา โดยใช้เกณฑ์เดียวกัน นอกจากนี้ได้ทำการสัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ เก็บข้อมูลรายรับ รายจ่ายที่เกี่ยวกับผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจากการวิเคราะห์เชิงสถิติเบื้องต้นพบว่า ผู้ป่วยที่รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด มีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 39 ปี และผู้ป่วยสลายนิ่วมีอายุเฉลี่ยเท่ากับ 42 ปี ภูมิลำเนาของผู้ป่วยผ่าตัดอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 42.9 รองลงมาอยู่ในภาคกลางร้อยละ 36.7 ส่วนผู้ป่วยสลายนิ่ว มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคกลางคิดเป็นร้อยละ 60.9 และรองลงมาเป็นภาคเหนือร้อยละ 21.8 อาชีพของผู้ป่วยผ่าตัดส่วนใหญ่ร้อยละ 24.5 มีอาชีพรับจ้าง ส่วนผู้ป่วยสลายนิ่วครั้งเดียวมีอาชีพรับราชการ ทหาร ตำรวจ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 43.5 รองลงมาเป็นชาวสวน ชาวนา ชาวไร่ ร้อยละ 21.7 รายได้ของผู้ป่วยแบ่งเป็นมีรายได้ประจำ กับไม่มีรายได้ประจำ กลุ่มผ่าตัดมีรายได้ไม่ประจำร้อยละ 64.4 ส่วนกลุ่มสลายนิ่วมีรายได้ประจำร้อยละ 69.40 การศึกษาทั้งสองกลุ่มอยู่ในระดับประถมศึกษา คือ กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดร้อยละ 67.4 กลุ่มสลายนิ่วร้อยละ 41.3 รองลงมามีการศึกษาระดับประกาศนียบัตร ปริญญาตรีร้อยละ 24.5 และร้อยละ 32.6 ตามลำดับ รายได้ผู้ป่วยผ่าตัด : ผู้ป่วยสลายนิ่ว เท่ากับ 78,505 : 102,953 บาท/ปี ผู้ป่วยสลายนิ่วจะมีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังนานกว่าผู้ป่วยผ่าตัด คือ 40: 30 เดือน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมาโรงพยาบาลโดยแพทย์ส่งมา ผู้ป่วยผ่าตัดมีอัตราร้อยละ 42.9 และผู้ป่วยสลายนิ่วมีอัตราร้อยละ 54.3 อาการสำคัญที่มาโรงพยาบาลคือ อาการปัสสาวะขัด ปวดบริเวณเอวด้านหลัง หรือท้องส่วนกลางและมีเลือดออกมากับน้ำปัสสาวะสำหรับประสิทธิผลของต้นทุนพบว่า ต้นทุนโดยตรงหรือเศษนิ่ว คือ ค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลต่อผู้ป่วยสลายนิ่ว สูงกว่าผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดประมาณ 4 เท่า ดังนั้นประสิทธิผลของต้นทุนวิธีผ่าตัดดีกว่าวิธีสลายนิ่ว แต่ค่าใช้จ่ายทางอ้อม หรือต้นทุนทางอ้อมของโรงพยาบาลกลุ่มสลายนิ่วถูกกว่ากลุ่มผ่าตัดเพียงเล็กน้อยวิจารณ์ การวิเคราะห์ประสิทธิผลของต้นทุนนั้น เป็นการคิดที่ค่อนข้างหยาบ เพราะคิดค่าใช้จ่ายของสองวิธีเปรียบเทียบกัน โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาการหายของโรคและการดำเนินชีวิตในระยะยาวว่า จะเกิดเจ็บป่วยอีกหรือมีความเครียดของผู้ป่วย และญาติ ตลอดจนอัตราความเสี่ยงของการผ่าตัด ผู้วิจัยได้พยายามแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการหาต้นทุน-ผลประโยชน์ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่ม และพบว่าผู้ป่วยที่รับการรักษาโดยวิธีสลายนิ่ว คุ้มกว่าวิธีผ่าตัด
ที่มา
วารสารสุขศึกษา ปี 2536, เมษายน-มิถุนายน
ปีที่: 62 ฉบับที่ 16 หน้า 31-41