ผลลัพธ์การฉายรังสีโคบอลท์ 60 ต่อเนื้องอกแผลเป็นที่ติ่งหูภายใน 6 ชั่วโมงและ 6-24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
ชวลิต หลักดี
กลุ่มงานรังสีวิทยา โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก 65000
บทคัดย่อ
การรักษามาตรฐานของเนื้องอกแผลเป็นด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียวนั้นมีผลลัพธ์ที่ไม่ดี เนื่องจากมีอัตราการกลับเป็นซ้ำสูง การเสริมด้วยรังสีรักษาหลังการผ่าตัดช่วยให้ผลของการรักษาดีขึ้นโดยควบคุมโรคได้ถึง 72-92 % อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่เหมาะสมของการฉายรังสียังไม่ชัดเจน วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการฉายรังสีด้วยรังสีโคบอลท์ 60 ภายในช่วง 6 ชั่วโมงกับในช่วงระหว่าง 6 ชั่วโมงแต่ไม่เกิน 24 ชั่วโมง หลังการผ่าตัดเนื้องอกแผลเป็นที่ติ่งหู โดยศึกษาแบบไปข้างหน้าและเป็นแบบสุ่ม ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2550 ถึงเมษายน 2557 จากกลุ่มผู้ป่วยเนื้องอกแผลเป็นที่ติ่งหูจำนวน 109 ราย เป็นเพศหญิง ร้อยละ 98.2 อายุเฉลี่ย 26 ปี (ช่วง 20-35 ปี) โดยการฉายรังสีครั้งละ 4 เกรย์ เป็นเวลา 4 วัน รวม 16 เกรย์ พบการกลับเป็นซ้ำในกลุ่มที่ฉายรังสีภายใน 6 ชั่วโมง เมื่อ 6 เดือน 1 คน (1.9%) และเมื่อ 1 ปีอีก 1 คน (1.9%) ส่วนกลุ่มที่ฉายรังสีในช่วงเวลา 6-24 ชั่วโมง พบการกลับเป็นซ้ำเมื่อ 1 ปี 2 คน (3.6%) ส่วนภาวะแทรกซ้อนหลังการรักษาทั้งในระยะเฉียบพลันและเรื้อรัง มีข้อมูลไม่เพียงพอที่สรุปได้ว่ามีความแตกต่างของภาวะแทรกซ้อนจากการรักษาทั้งสองวิธี
 
ที่มา
ฺBuddhachinaraj Medical Journal ปี 2559, January-April ปีที่: 33 ฉบับที่ 1 หน้า 20-26
คำสำคัญ
Keloid, ear lobe, adjuvant radiotherapy, เนื้องอกแผลเป็น, ติ่งหู, เสริมด้วยรังสีรักษา