การทดลองแบบสุ่มเพื่อประเมินประสิทธิผลของอุปกรณ์ดามข้อมือในการลดอาการปวดความรุนแรงของอาการและความสามารถในการทำงาน ในอาสาสมัครโรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
กชกร ยรรยง
กลุ่มงานเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษาแบบสุ่ม เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้อุปกรณ์ดามข้อมือเวลากลางคืนในการลดความปวด ความรุนแรงของอาการ และความสามารถในการทำงานในอาสาสมัครที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางของโรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ อาสาสมัครคือพนักงานโรงงานผลิตอาหารทะเลแช่แข็งแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา อาสาสมัคร 72 คน ถูกสุ่มให้เข้ากลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุมโดยการจับฉลาก โอกาสที่อาสาสมัครและคนจะเข้ากลุ่มการทดลองหรือกลุ่มควบคุมเป็น 1:1 กลุ่มทดลองใช้อุปกรณ์ดามข้อมือเวลากลางคืนอย่างน้อย 5 ชั่วโมงเป็นเวลา 5 สัปดาห์ ร่วมกับคำแนะนำทางการแพทย์ ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับคำแนะนำอย่างเดียว อาสาสมัคร 66 คนเข้าร่วมการศึกษาจนจบ ทั้งสองกลุ่มทำแบบประเมินด้วยตนเองเมื่อเริ่มทำการศึกษาและเมื่อสิ้นสุดการศึกษาเกี่ยวกับคะแนนความปวด (VAS) ความรุนแรงของอาการของโรค และความสามารถในการทำงาน การศึกษาพบว่าคะแนนความปวด (VAS) และความรุนแรงของอาการ (SSS) ในกลุ่มที่ใช้อุปกรณ์ดามข้อมือลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.007 และ p=0.000 ตามลำดับ) ขณะที่ความสามารถในการทำงาน (FSS) ดีขึ้น แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.65) ดังนั้น อุปกรณ์ดามข้อมือเวลากลางคืนมีประสิทธิผลช่วยลดความปวดและความรุนแรงของอาการโรคกดทับเส้นประสาทระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง บริเวณข้อมือในอาสาสมัคร แต่ไม่มีผลต่อความสามารถในการทำงาน
 
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2555, July-September ปีที่: 37 ฉบับที่ 3 หน้า 241-246
คำสำคัญ
Carpal tunnel syndrome, night wrist splint, symptom severity scale, functional status scale, โรคกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ, อุปกรณ์ตามข้อมือในเวลากลางคืน, แบบประเมินความรุนแรงของอาการและความสามารถในการทำงาน