การศึกษาประสิทธิผลของขิงในการป้องกันภาวะคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวชที่ได้รับการฉีดยาชาร่วมกับยาแก้ปวดมอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลัง
วลีรัตน์ ไกรโกศล*, ณัฐดนัย ุมุสิกวงศ์, ปนัดดา ประคอง
โรงพยาบาลศูนย์เจ้าพระยาอภัยภูเบศร ปราจีนบุรี
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : ภาวะคลื่นไส้และอาเจียนเป็นผลข้างเคียงในผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวชที่ได้รับการฉีดยาชาร่วมกับยาแก้ปวดมอร์ฟีน ในการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มแบบปกปิดทั้ง 2 ข้าง มีกลุ่มเปรียบเทียบและผู้ประเมินไม่ทราบว่าอาสาสมัครอยู่กลุ่มใด วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าแคปซูลขิง ขนาด 1 กรัม สามารถลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดได้หรือไม่
                วัตถุและวิธีการ : โดยศึกษาในอาสาสมัครที่เข้ารับการผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวช ที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จำนวน 90 ราย โดยสุ่มเลือกอาสาสมัครเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน กลุ่มแรก (A) ได้รับแคปซูลขิง 2 แคปซูลและน้ำ 30 มิลลิลิตร (1 แคปซูลประกอบด้วยผลขิง 0.5 กรัม) รับประทานก่อนเริ่มให้ยาระงับความรู้สึก 1 ชั่วโมง และได้รับการฉีด 0.9% NSS 2 มิลลิลิตร ทางหลอดเลือดดำ ก่อนเริ่มทำการระงับความรู้สึก กลุ่มที่สทอง (B) ได้รับแคปซูลหลอกบรรจุแป้ง 2 แคปซูลและน้ำ 30 มิลลิลิตร รับประเทานก่อนเริ่มให้ยาระงับความรู้สึก 1 ชั่วโมง และได้รับการฉีด Metoclopramide 10 mg (2 ml) ทางหลอดเลือดดำ ก่อนเริ่มทำการระงับความรู้สึกและกลุ่มสุดท้าย (C) ได้รับแคปซูลหลอกบรรจุแป้ง 2 แคปซูลและน้ำ 30 มิลลิลิตร รับประทานก่อนเริ่มให้ยาระงับความรู้สึก 1 ชั่วโมง และได้รับการฉีด 0.9% NSS 2 มิลลิลิตร ทางหลอดเลือดดำ ก่อนเริ่มทำการระงับความรู้สึก ติดตามผลหลังผ่าตัดทุก 6, 12, 18 จนถึง 24 ชั่วโมง
                ผลการศึกษา : หลังผ่าตัด 24 ชั่วโมง ไม่พบความแตกต่างระหว่างอุบัติการณ์ของการเกิดภาวะคลื่นไส้และอาเจียนในผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวชที่ได้รับการฉีดยาร่วมกับยาแก้ปวดมอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลังในผู้ป่วยทั้ง 3 กลุ่ม และไม่พบผลข้างเคียงหรือฤทธิ์ไม่พึงประสงค์ที่มีผลต่อการผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบกับ Metoclopramide และยาหลอก
                สรุป : การรับประทานขิงแคปซูลขนาด 1 กรัม ไม่สามรถลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวชที่ได้รับการฉีดยาร่วมกับยาแก้ปวดมอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลังและขิงแคปซูลไม่มีผลข้างเคียงต่อการรักษา
 
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2558, September-October ปีที่: 40 ฉบับที่ 5 หน้า 120-128
คำสำคัญ
Ginger, Nausea, Vomiting, intrathecal morphine, Major gynecological surgery, การผ่าตัดใหญ่ทางนรีเวช, ขิง, ภาวะคลื่นไส้, ภาวะอาเจียน, การฉีดยามอร์ฟีนเข้าทางช่องไขสันหลัง