ผลของการใช้ tranexamic acid เฉพาะที่เพื่อลดการเสียเลือดหลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อน โดยไม่วางท่อระบายเลือด
ปิยวรรณ คงตั้งจิตต์ภาควิชาโสต ศอ นาสิก, โรงพยาบาลปทุมธานี อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี 12000
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : หลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ แพทย์ส่วนใหญ่มักจะใส่ท่อระบายเลือด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ภาวะเลือดคั่ง หรือ น้ำเหลืองคั่ง ผู้ป่วยบางรายจะรู้สึกเจ็บปวดและไม่สบายตัวจากการคาท่อระบายเลือดหลังผ่าตัด หลายงานศึกษารายงานการใช้กาวไฟบรินเพื่อห้ามเลือดบริเวณก้นแผลผ่าตัดต่อมธัยรอยด์โดยไม่ใส่ท่อระบายเลือดว่าได้ผลดี วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้ เพื่อศึกษาผลสำเร็จของการใช้ tranexamic acid แบบเฉพาะที่ บริเวณก้นแผลผ่าตัดหลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อนโดยไม่วางท่อระบายเลือด เปรียบเทียบกับการวางท่อระบายเลือดแบบดั้งเดิม
วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาแบบ Prospective randomized control study ในโรงพยาบาลปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึง วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558 รวบรวมผู้ป่วยจำนวน 55 ราย ที่มีก้อนทูมที่ต่อมธัยรอยด์ข้างใดข้างหนึ่ง และมีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อนออก โดยสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษา เป็นกลุ่มที่ได้รับการรักษาโดยใช้ tranexamic acid บริเวณก้นแผลผ่าตัดในการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อนโดยไม่วางท่อระบายเลือด และกลุ่มควบคุม เป็นกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อนและวางท่อระบายเลือด
ผลการศึกษา : ไม่พบความแตกต่างกันทางสถิติในข้อมูลด้าน อายุ เพศ โรคประจำตัว น้ำหนักของต่อมธัยรอยด์ที่ตัดออก และผลทางพยาธิวิทยา ระหว่าง 2 กลุ่ม ในกลุ่มที่ใช้ tranexamic acid บริเวณก้อแผลผ่าตัด มีระยะเวลาในการผ่าตัดและปริมาณเลือดที่ออกระหว่างผ่าตัดเฉลี่ยน้อยกว่า กลุ่มที่วางท่อระบายเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) เช่นเดียวกับระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลของผู้ป่วยกลุ่มที่ใช้ tranexamic acid ในการผ่าตัดลดลงกว่ากลุ่มที่วางท่อระบายเลือดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ภาวะแทรกซ้อนพบ 1 สัปดาห์หลังผ่าตัด เกิดภาวะน้ำเหลืองคั่งในกลุ่มที่ใช้ tranexamic acid 2 ราย ในกลุ่มที่วางท่อระบายเลือด 1 ราย ซึ่งไม่แตกต่างกันทางสถิติ ภาวะน้ำเหลืองคั่งของทั้ง 2 กลุ่ม รักษาได้โดยการเจาะดูดในแผนกผู้ป่วยนอก ไม่พบผู้ป่วยรายใดต้องกลับมานอนโรงพยาบาลหรือเข้าห้องผ่าตัดซ้ำ การเกิดแผลเป็นหลังผ่าตัด และความพึงพอใจของผู้ป่วยไม่แตกต่างกันทางสถิติ
สรุป : การใช้ tranexamic acid เฉพาะที่บริเวณก้นแผลหลังการผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างที่เป็นก้อนออก เป็นวิธีที่ปลอดภัยโดยภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นไม่แตกต่างจากการวางท่อระบายเลือดแบบดั้งเดิม tranexamic acid ใช้เฉพาะที่บริเวณก้นแผลหลังผ่าตัดได้ง่าย ราคาถูก และใช้ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดน้อย
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2559, May-June
ปีที่: 41 ฉบับที่ 3 หน้า 74-82
คำสำคัญ
Fibrin glue, Tranexamic acid, กาวไฟบริน, Drain, Hemithyroidectomy, การผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ข้างเดียว, การวางท่อระบาย กรดทราเนซามิค