การผ่าตัดรักษา Trigger finger ด้วยวิธีแผลผ่าตัดเล็กโดยใช้มีดผ่าตัด A-knife: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
พีรพงศ์ ฉายวิริยะThugsong Hospital, Nakorn Sri Thummarat
บทคัดย่อ
บทนำ : ผู้ป่วย trigger finger ที่รับการรักษาใน รพ.ทุ่งสง มีจำนวนประมาณ 100 รายต่อปี ซึ่งกว่าร้อยละ 40 จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีผ่าตัดแบบบาดแผลมาตรฐานนั้น ทำให้เกินบาดแผลผ่าตัดที่ยาว ใช้ระยะเวลานานในการกลับไปใช้งานมือที่ผ่าตัดได้เหมือนปกติ การผ่าตัดโดยใช้มีดผ่าตัด A-knife เป็นวิธีบาดแผลเล็ก ช่วยให้มีประสิทธิผลที่ดีและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลระหว่างการผ่าตัดรักษาผู้ป่วย Trigger finger แบบวิธีผ่าตัดมาตรฐาน กับวิธีผ่าตัดบาดแผลเล็กโดยใช้มีดผ่าตัด A-knife
วิธีการศึกษา : เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ประชากรที่ศึกษาได้แก่ ผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาที่คลินิกกระดูกและข้อโรงพยาบาททุ่งสงและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Trigger finger ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2557 – เมษายน 2558 ทุกคนจะได้รับข้อมูลเพื่อพิจารณาเข้าร่วม และทำการเก็บข้อมูลพื้นฐานลงในแบบฟอร์มการเก็บข้อมูล หลังจากนั้นเมื่อทำการผ่าตัดจะมีการเตรียมผู้ป่วยทุกคนเหมือนกัน แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดจะทราบวิธีการผ่าตัดก่อนที่จะลงมีด โดยกลุ่มผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มด้วยวิธีจับสลาก
กลุ่ม 1 ผู้ป่วย Trigger finger ได้รับการผ่าตัดรักษาโดยวิธีบาดแผลเล็ก ด้วย A-knife
กลุ่ม 2 ผู้ป่วย Trigger finger ได้รับการผ่าตัดรักษาโดนวิธีมาตรฐาน
การผ่าตัดรักษาโดยวิธีบาดแผลเล็กด้วย A-knife จะเปิดบาดแผลเพียง 1.5 – 2 mm บันทึกข้อมูลทั่วไป, Pain score, ระยะเวลาที่ใช้ในการผ่าตัด และติดตามผลหลังผ่าตัดที่ 1 สัปดาห์ และ 1 เดือน ประเมินอาการปวดความพึงพอใจ จำนวนวันหลังผ่าตัดที่สามารถกลับไปใช้มือได้วิเคราะห์เปรียบเทียบความแตกต่างของข้อมูลด้วย t-test
ผลการศึกษา : มีผู้ป่วยเข้าร่วมการศึกษาทั้งสิ้น 50 คน แบ่งเป็นกลุ่มผ่าตัดวิธีมาตรฐาน 25 คน กลุ่มผ่าตัดบาดแผลเล็ก ด้วย PSU retractor 25 คน ทั้งสองกลุ่มมีอายุเฉลี่ย, มีอาการและระยะเวลาที่มีอาการเฉลี่ยไม่แตกต่างกัน ผลการรักษา พบว่าในกลุ่มที่ผ่าตัดบาดแผลเล็กด้วย A-knife มีขนาดแผลผ่าตัดที่เล็กกว่าและระยะเวลาที่สามารถกลับไปทำงานเร็วกว่ากลุ่มผ่าตัดวิธีมาตรฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) รวมถึงใช้ระยะเวลาผ่าตัดน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.007) ภาวะแทรกซ้อนที่พบเพียงหนึ่งรายในกลุ่มวิธีผ่าตัดบาดแผลเล็ก ด้วย A-knife คือแผลผ่าตัดฉีกขาดระหว่างการผ่าตัด
อภิปรายและสรุป : การผ่าตัด Trigger finger ในกลุ่มผู้ป่วยด้วยวิธีบาดแผลเล็ก โดยใช้ A-knife ให้ผลการรักษา ที่ดีกว่า รวมถึงมีภาวะแทรกซ้อนน้อยและผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มมีความพึงพอใจต่อผลการรักษาไม่แตกต่างกัน
ที่มา
Regional 11 Medical Journal ปี 2558, July-September
ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 417-423
คำสำคัญ
Trigger Finger, A-knife, Mini-incision surgery