ผลการศึกษาการใช้สายระบายซิลิโคนขนาดเล็กเพื่อลดอาการปวดไหล่หลังการผ่าตัดตัดต่อมหมวกไตผ่านกล้อง
วิศา อเนกมุจลินท์, กมล ภานุมาตรัศมี, อภิรักษ์ สันติงามกุล*
Department of Surgery, Faculty of Medicine, Chulalongkorn University, Bangkok 10250, Thailand; Phone: +66-81-5525925; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: ภาวะปวดไหล่หลังจากการทำผ่าตัดตัดต่อมหมวกไตด้วยกล้องผ่านช่องท้องนั้นพบได้ค่อนข้างบ่อย ได้มีการคิดค้นวิธีเพื่อช่วยลดอาการหลายอย่าง แต่ยังไม่ค่อยได้ผลที่ดีนัก
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาการใช้สายระบายซิลิโคนขนาดเล็กเพื่อลดอาการปวดไหล่หลังผ่าตัด
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาทดลองแบบสุ่มตัวอย่างผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดต่อมหมวกไตผ่านกล้อง จำนวน 38 ราย จากการศึกษาแบบเฝ้าสังเกตหลังการผ่าตัดตัดต่อมหมวกไตผ่านกล้องจำนวน 10 ราย พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวางสายระบายซิลิโคนขนาดเล็กสามารถลดอาการปวดไหล่ได้อย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับ จึงได้มีการทำการศึกษาแบบสุ่ม โดยแบ่งเป็นผู้ป่วยที่ใส่สาย 19 ราย (กลุ่ม A) และผู้ป่วยที่ไม่ได้ใส่สาย 19 ราย (กลุ่ม B) โดยมีการบันทึกคะแนนของอาการปวดของไหล่ที่ 4, 8, 12, 24 และ 48 ชั่วโมงหลังผ่าตัด นอกจากนั้นยังได้มีการบันทึกถึงปริมาณยาแก้ปวดที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 กลุ่ม
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยกลุ่ม A มีอาการปวดไหล่ 12 ราย (63.2%) กลุ่ม B มีอาการ 14 ราย (73.68%) ผลการศึกษาพบว่าทั้งสองกลุ่มไม่พบความผิดปรกติในจำนวนครั้งและความรุนแรงของอาการปวดไหล่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนั้นยังไม่พบว่ามีความแตกต่างของปริมาณยาแก้ปวดที่ใช้ อาการปวดไหล่จะพบมากสุดที่ชั่วโมงที่ 4 และที่ 8 หลังจากนั้นจะค่อยๆ ลดลงทั้งสองกลุ่ม
สรุป: แม้ว่าจะพบหลักฐานจากการศึกษาอื่น รวมทั้งการศึกษาเฝ้าสังเกตในระยะแรกว่าการใส่ที่ระบายซิลิโคนขนาดเล็กอาจช่วยในการลดอาการปวดไหล่ แต่หลังจากทำการศึกษาแบบสุ่มเพื่อพิสูจน์ ปรากฏว่าไม่พบความแตกต่างของการปวดไหล่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของกลุ่มที่ใส่และไม่ใส่ ดังนั้นจึงควรมีการศึกษาอื่นเพื่อลดอาการปวดดังกล่าวต่อไป
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, September ปีที่: 99 ฉบับที่ 9 หน้า 1020-1024
คำสำคัญ
laparoscopy, Shoulder tip pain, Soft silicone drain, Analgesic drug, Adrenalectomy