ผลของการใช้ยาชาเฉพาะที่บริเวณรอบแผลหลังการผ่าตัดนิ่วในไตด้วยวิธีส่องกล้อง (PCNL)
ธนฤทธิ์ จุรีมาศ, บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์, พฤทธ์ กิติรัตน์ตระการ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยและวิธีการศึกษา: รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาผ่าตัดนิ่วในไตด้วยวิธีส่องกล้อง 50 ราย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2555 ถึงพฤศจิกายน 2556 โดยผู้เข้าร่วมในการศึกษาจะได้รับการสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 25 คน หลังจากผ่าตัดนิ่วในไตด้วยวิธีส่องกล้อง จะได้รับการฉีดยาชา 0.25% bupivacaine รอบแผลผ่าตัด ตั้งแต่ชั้นแคปซูลของไตจนถึงชั้นผิวหนัง ที่บริเวณ 6 และ 12 นาฬิกา ข้างละ 10 มิลลิลิตร ส่วนในกลุ่มควบคุม จำนวน 25 คน จะไม่ได้รับการฉีดยาชา ผลการศึกษาหลักคือ การประเมินอาการปวดหลังผ่าตัดโดย visual analogue scale for pain (VAS pain) ที่ระยะเวลา 1, 4, 12, 24 และ 48 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด ผลการศึกษารอง ได้แก่ ปริมาณยาแก้ปวดชนิด opioids ที่ใช้ใน 24 ชั่วโมงแรก ระยะเวลาที่ขอใช้ยาแก้ปวดครั้งแรก และผลข้างเคียงของยาแก้ปวด
ผลการศึกษา: ผลการประเมินอาการปวดหลังผ่าตัดที่ 1 ชั่วโมง พบว่า กลุ่มที่ได้รับยาชามีค่าเฉลี่ยของคะแนนความปวดน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (4.6 และ 6.4 ตามลำดับ p=0.025) ปริมาณการใช้ยาแก้ปวดชนิด opioids ในกลุ่มที่ได้รับยาชาเท่ากับ 5.32 มิลลิกรัม เทียบกับ 7.02 มิลลิกรัมในกลุ่มควบคุม (p=0.114) ระยะเวลาในการขอยาแก้ปวดครั้งแรกใน กลุ่มที่ได้รับยาชาเท่ากับ 103.48 นาที เทียบกับ 59.47 ในกลุ่มควบคุมและมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (p=0.032) ผลข้างเคียงของยาแก้ปวดคือ อาการคลื่นไส้ อาเจียน ไม่มีความแตกต่างของทั้งสองกลุ่ม
สรุป: การฉีดยาชารอบแผลผ่าตัดนิ่วในไตด้วยวิธีส่องกล้องด้วย 0.25% bupivacaine พบว่ามีประโยชน์ โดยสามารถลดอาการปวดหลังผ่าตัดในช่วงแรกได้ดี
 
ที่มา
วารสารยูโร ปี 2558, January-June ปีที่: 36 ฉบับที่ 1 หน้า 16-22
คำสำคัญ
Percutaneous nephrolithotomy, peritubal local anesthetic, ยาชาเฉพาะที่รอบแผล, การผ่าตัดนิ่วในไตด้วยวิธีส่องกล้อง