ผลของโปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจต่อคุณภาพชีวิตในสตรีมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับรังสีรักษา
ชลันดา จดจำ, คนึงนิจ พงศ์ถาวรกมล*, ศศิมา กุสุมา ณ อยุธยา
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล บางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพต่อคุณภาพชีวิตในสตรีมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับรังสีรักษา
รูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบกึ่งทดลอง
วิธีดำเนินการวิจัย: กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีมะเร็งปากมดลูก จำนวน 52 คน ที่มารับการรักษาด้วยการฉายรังสี ได้รับการจัดเข้ากลุ่มทดลอง 27 คนและกลุ่มควบคุม 25 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ ระยะเวลา 5 สัปดาห์ ประกอบด้วย การสอนแบบกลุ่ม การเข้ากลุ่มประคับประคองด้านจิตใจ การให้คำปรึกษารายบุคคล คู่มือ และการให้คำแนะนำและกระตุ้นการปฏิบัติพฤติกรรมทางโทรศัพท์ ขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับเฉพาะคู่มือเพื่อศึกษาด้วยตนเอง โดยทั้งสองกลุ่มได้รับการพยาบาลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบประเมินคุณภาพชีวิตสำหรับผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกโดยประเมินก่อนเริ่มโปรแกรมสัปดาห์ที่ 1และสัปดาห์ที่ 5 วันสุดท้ายของรังสีรักษา วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติพรรณนา ทดสอบค่าที และวิคราะห์ความแปรปรวนร่วม
ผลการวิจัย: ภายหลังได้รับโปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจโดยมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ 5 สัปดาห์ พบว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนคุณภาพชีวิตกลุ่มทดลอง (M = 150.33, SD = 4.89) สูงกว่ากลุ่มควบคุม (M = 130.84, SD = 5.78) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F = 168.86, df = 1, p < . 05)
สรุปและข้อเสนอแนะ: ผลการศึกษาชี้แนะว่าโปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจมุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพมีประสิทธิผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิต พยาบาลควรมุ่งให้ความสนใจนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้เพื่อส่งเสริมการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกระหว่างการรักษา ทั้งนี้ควรมีการศึกษาต่อโดยติดตามผลในระยะยาว
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์ ปี 2559, April-June ปีที่: 34 ฉบับที่ Suppl 1 หน้า 143-155
คำสำคัญ
Quality of life, Cervical cancer, คุณภาพชีวิต, รังสีรักษา, มะเร็งปากมดลูก, Health promotion, Radiation therapy, คุณภาพชี่วิต, psycho-educational program, โปรแกรมให้ความรู้และประคับประคองจิตใจ การสร้างเสริมสุขภาพ