ค่าใช้จ่าย ผลข้างเคียง และความพึงพอใจของการระงับความรู้สึกโดยวิธีบริหารยาทางหลอดเลือดดำทางช่องไขสันหลัง และทางช่องเหนือดูรา สำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทำหมันหลังคลอดในโรงพยาบาลพิจิตร
บุษกร รักสวย*, วาสนา สุขอยู่, เสาวรส ชื่นเกสรกลุ่มงานวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลพิจิตร
บทคัดย่อ
การระงับความรู้สึกสำหรับผู้ป่วยผ่าตัดทำหมันหลังคลอดสามารถทำได้หลากหลายเทคนิควิธีเริ่มตั้งแต่การฉีดยาชาเฉพาะที่ การระงับความรู้สึกแบบเฉพาะส่วน หรือการระงับความรู้สึกแบบทั่วตัว ปัจจุบันการคำนึงถึงความประหยัดและการลดค่าใช้จ่ายในการระงับความรู้สึกจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ให้ความสำคัญในงานบริการสาธารณสุข ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายการระงับความรู้สึกของผู้ป่วยทำหมันคลอดโดยวิธีบริหารยาทางหลอดเลือดดำ ทางช่องไขสันหลัง และทางช่องเหนือดูรา รวมถึงผลข้างเคียง และความพึงพอใจของผู้ป่วยหลังการระงับความรู้สึก รูปแบบการศึกษาเป็นแบบ randomized control trial (RCT) โดยมีผู้ป่วยทั้งหมด 90 ราย ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดทำหมันหลังคลอดที่โรงพยาบาลพิจิตร สุ่มออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน คือกลุ่มที่ได้รับการระงับความรู้สึกโดยบริหารยาทางหลอดเลือดดำ (TIVA) กลุ่มที่บริหารยาชาทางช่องไขสันหลัง (SA) และกลุ่มที่บริหารยาชาทางช่องเหนือดูรา (EA) พบว่า กลุ่ม EA มีค่าใช้จ่ายรวมตลอดการผ่าตัดน้อยกว่า กลุ่ม TIVA และ SB อย่างมีนัยสำคัญ (152.6± 28.1 บาท เปรียบเทียบกับ 272.8±107.3 บาท และ 281.5±28.1 บาท ในกลุ่ม TIVA และกลุ่ม SB ตามลำดับ) เพราะทั้งค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัดและค่าใช้จ่ายที่ห้องพักฟื้นมีค่าน้อยกว่า (p < 0.05) แม้ว่ากลุ่ม SA จะมีค่าใช้จ่ายที่ห้องพักฟื้นไม่แตกต่างจากกลุ่ม EA ก็ตาม แต่กลุ่ม SA มีค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัดมากกว่ากลุ่ม EA อย่างมีนัยสำคัญ เพราะกลุ่ม EA ใช้ยาชาเฉพาะที่ xylocaine และ reused epidural needle ซึ่งค่าใช้จ่ายถูกกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่ม SA ที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ bupivacaine และ dispossible spinal needle ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า สำหรับอุบัติการณ์ภาวะความดันโลหิตต่ำ อาการคลื่นไส้ ปัสสาวะไม่ออก และปวดศีรษะไม่แตกต่างทั้งสามกลุ่ม ผู้ป่วยต้องการยาระงับปวดเพิ่มหลังผ่าตัดพบว่า ในกลุ่ม TIVA มากกว่ากลุ่มอื่น (23.3 % และ 0% ในกลุ่ม SA และ EA; p <0.05) การวัดระดับความพึงพอใจไม่พบผู้ป่วยที่ไม่พึงพอใจกับการระงับความรู้สึกทั้งสามวิธี ข้อสรุปงานวิจัยครั้งนี้คือการระงับความรู้สึกโดยวิธีบริหารยาชาเฉพาะที่ทางช่องเหนือดูรามีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการบริหารยาทางหลอดเลือดดำและทางช่องไขสันหลังในผู้ป่วยผ่าตัดทำหมันหลังคลอดที่โรงพยาบาลพิจิตร พบอุบัติการณ์ผลข้างเคียงที่รุนแรงค่อนข้างต่ำ ผลการระงับปวดอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากที่สุด และเทคนิคนี้ทำให้แพทย์สามารถผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ดังนั้นวิสัญญีแพทย์จึงสามารถนไปประยุกต์ในการปฏิบัติงานได้ตามความเหมาะสม
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลพิจิตร ปี 2558, April-September
ปีที่: 30 ฉบับที่ 2 หน้า 33-44
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, ความพึงพอใจ, Expenditure, ค่าใช้จ่าย, ผลข้างเคียง, Side effect, satisfaction total intravenous anesthesia, epidural anesthesia, postpartum tubal ligation, การระงับความรู้สึกโดยบริหารยาทางหลอดเลือดดำ, การะงับความรู้สึกโดยบริหารยาทางช่องไขสันหลัง, การระงับความรู้สึกโดยบริหารยาทางช่องเหนือดูรา, การผ่าตัดทำหมันหลังคลอด