การเสริมกระเทียมไทยสกัดไม่มีผลต่อค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หน้าที่การทำงานของตับและไตในผู้ป่วยที่มีโคเลสเตอรอลสูง
ปราณี จันทเพ็ชร์, ปรารถนา สถิตย์วิภาวี, สุภัทรา จันทรมานะ, อรวรรณ ติยะมณีDepartment of Biostatistics, Faculty of Public Health, Mahidol University, Bangkok.
บทคัดย่อ
กระเทียมไทยสกัดชนิดเม็ดที่มีสารมาตรฐานอัลลิซินสูงผลิตขึ้นเพื่อลดระดับไขมันในเลือดและความดันโลหิตซึ่งจะเป็นผลต่อการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจึงจำเป็นที่ต้องทดสอบความปลอดภัยของการรับประทานกระเทียมสกัดชนิดเม็ดที่มีสารมาตรฐานอัลลิซินสูงโดยทดสอบทางโลหิตวิทยาและชีวเคมี การศึกษานี้เป็นการทดลองทางคลินิกแบบสุ่มตัวอย่าง (randomized), double-blind, placebo-controlled, parallel treatment ในอาสาสมัครที่มีระดับโคเลสเตอรอลรวมในเลือดเท่ากับหรือมากกว่า 200 มก./ดล. จำนวน 136 ราย (ชาย 48 ราย, หญิง 88 ราย) อายุเฉลี่ย 47.0 ± 6.6 ปี สุ่มแบ่งเป็นกลุ่มศึกษาให้รับประทานกระเทียมสกัดชนิดเม็ด (มาตรฐานอัลลิซินร้อยละ 1.12 หรือ 5.6 มิลลิกรัม/เม็ด) และกลุ่มรับประทานยาหลอกที่มีลักษณะเหมือนกัน ขนาดวันละ 1 เม็ด หลังอาหารเย็นเป็นเวลา 12 สัปดาห์ และตรวจเลือดทางโลหิตวิทยาและชีวเคมีก่อนและหลังรับประทานยา ผลพบว่าค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (จำนวนและชนิดของเม็ดเลือดขาว ฮีโมโกลบิน ฮีมาโตคริต และจำนวนเกร็ดเลือด) หน้าที่การทำงานของตับ (เอนไซม์ aspartate และ alanine aminotransferase) และหน้าที่การทำงานของไต (ยูเรียและครีอาตินีน) ของกลุ่มที่ได้รับกระเทียมสกัดไม่แตกต่างกันกับกลุ่มที่ได้ยาหลอก ดังนั้นการรับประทานกระเทียมไทยสกัดชนิดเม็ดที่มีสารอัลลิซินสูง จึงมีความปลอดภัยทางด้านความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด หน้าที่การทำงานของตับ และหน้าที่การทำงานของไต
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2547, December
ปีที่: 29 ฉบับที่ 12 หน้า 685-692
คำสำคัญ
blood count values, Liver, renal functions, Thai garlic, กระเทียมไทยสกัดชนิดเม็ดที่มีสารมาตรฐานอัลลิซินสูง, การทดสอบทางโลหิตวิทยาและชีวเคมี, ผู้ที่มีโคเลสเตอรอลในเลือดสูง