ผลของการชักนำการเจ็บครรภ์ทันทีด้วย Oxytocin กับการเฝ้ารอ 12 ชั่วโมง หลังจากมีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนเจ็บครรภ์ ในครรภ์ครบกำหนด
ประพนธ์ จารุยาวงศ์, อำนวย ตัณฑ์ศุภศิริ, เอกชัย ศิริพานิช
Department of Obstetrics and Gynecology, Rajavithi Hospital, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงผลของการชักนำการเจ็บครรภ์ทันทีด้วย oxytocin กับการเฝ้ารอ 12 ชั่วโมงหลังจากมีภาวะถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนเจ็บครรภ์ในครรภ์ครบกำหนด ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2545 คัดเลือกสตรีตั้งครรภ์เดี่ยวซึ่งทารกมีส่วนนำเป็นศีรษะ อายุครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป และมีถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนเจ็บครรภ์ น้อยกว่า 12 ชั่วโมงก่อนมาถึงโรงพยาบาลราชวิถี จำนวน 72 ราย แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่มโดยใช้ตารางสุ่ม กลุ่มละ 36 คน โดยกลุ่มที่ 1 ให้ รับการชักนำการเจ็บครรภ์ ทันทีด้วย oxytocin กลุ่มที่ 2 เฝ้ารอเป็นเวลา 12 ชั่วโมง ถ้ายังไม่มีอาการเจ็บครรภ์ หรือมดลูกหดรัดตัวไม่ดีจะได้รับการชักนำหรือกระตุ้นการคลอดด้วย oxytocin เช่นเดียวกับกลุ่มที่  1 ผลการศึกษาพบว่า ช่วงอายุเฉลี่ยของมารดาในกลุ่มที่ 1 สูงกว่ากลุ่มที่ 2 (27.50 ± 5.84 ปี และ 24.86 ± 5.08 ปี) ส่วนน้ำหนักเฉลี่ย อายุครรภ์เฉลี่ยครรภ์แรกครรภ์หลัง ระยะเวลาที่มีน้ำคร่ำรั่วจนมาถึงโรงพยาบาล ความเหมาะสมของปากมดลูกขณะมาถึงห้องคลอด ระยะเวลาเฉลี่ยที่มีถุงน้ำคร่ำรั่วจนถึงคลอด วิธีการคลอดปกติทางช่องคลอด ใช้คีมช่วยคลอด น้ำหนักทารกเฉลี่ยและภาวะแทรกซ้อน ในมารดาและทารกไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากพบว่ามีการติดเชื้อในโพรงมดลูก 1 รายในกลุ่มที่ 1 และแผลแยก 1 รายในกลุ่มที่ 2 ส่วนอัตราการผ่าตัดคลอดทางหน้าท้อง เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่นำมาชักนำการเจ็บครรภ์ทันทีด้วย oxytocin โดยมี RR = 1.75 (95% CI 1.25 – 2.64; P= 0.032)  
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2547, March ปีที่: 29 ฉบับที่ 3 หน้า 143-149
คำสำคัญ
induction, oxytocin, premature rupture of membranes, การชักนำการเจ็บครรภ์, ถุงน้ำคร่ำรั่วก่อนการเจ็บครรภ์