ผลของการใช้กระเปาะเย็นกดจุดซานหยินเจียว (SP6) และจุดเหอกู่ (LI4) ต่อระดับความเจ็บปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็วในระยะที่หนึ่งของการคลอด
เกศกัญญา ไชยวงศาวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี อุดรธานี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองทางคลินิก (Clinical Trial Research Design) โดยทำการวัดก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษาการใช้กระเปาะเย็นกดที่จุดซานหยินเจียว (SP6) และจุดเหอกู่ (LI4) ต่อระดับความเจ็บปวดในระยะปากมดลูกเปิดเร็ว ในระยะที่หนึ่งของการคลอด กลุ่มตัวอย่างคือผู้คลอดครรภ์แรก ที่มีอายุระหว่าง 17-34 ปี ซึ่งมารับบริการที่แผนกห้องคลอด โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร และโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี ในระหว่างวันที่ 1 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 31 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2558 จำนวนทั้งหมด 60 คน ผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มๆ ละ 20 คน ด้วยวิธีการจับฉลากแบ่งเป็นกลุ่มควบคุม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการกดด้วยกระเปาะที่ไม่มีความเย็นที่จุดเหอกู่ (LI4) กลุ่มทดลอง ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการกดด้วยกระเปาะเย็นกดที่จุดซานหยินเจียว (SP6) และกลุ่มที่ได้รับการกดด้วยกระเปาะเย็นที่จุดเหอกู่ (LI4) ขณะมดลูกหดรัดตัวในระยะปากมดลูกเปิดเร็วในระยะที่หนึ่งของการคลอด เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการทดลอง ได้แก่ กระเปาะเย็น (cold tube) ซึ่งผู้วิจัยประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อใช้แทนแรงกดด้วยนิ้วมือ และเครื่อมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบวัดความเจ็บปวดวิช่วล เรตติ้ง สเกลส์ (visual rating scale: VRS) และแบบสอบถามของแมคกิลล์แบบย่อฉบับภาษาไทย (Thai version of short form McGill pain guestionnaire) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบความแตกต่างของคุณลักษณะประชากรระหว่างกลุ่มของทั้ง 3 กลุ่ม ด้วยการทดสอบไคว์-สแควร์ (Chi-square) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยระดับความเจ็บปวดก่อนและหลังทดลองภายในกลุ่มด้วยการทดสอบค่าที (paired t-test) และเปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนความเจ็บปวดระหว่างกลุ่มทั้ง 3 กลุ่มด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม (Analysis of covariance : ANCOVA)
ผลวิจัยพบว่าค่าเฉลี่ยของระดับความเจ็บปวดภายหลังการทดลองของกลุ่มที่ได้รับการกดจุดด้วยกระเปาะที่ไม่มีความเย็นที่จุดเหอกู่ (LI4) กลุ่มที่ได้รับการกดด้วยกระเปาะเย็นที่จุดซานหยินเจียว (SP6) และจุดเหอกู่ (LI4) มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F1.56=24.013, p=0.00) และยังพบว่าค่าเฉลี่ยของระดับความเจ็บปวดภายหลังการกดด้วยกระเปาะที่ไม่มีความเย็นที่จุดเหอกู่ (LI4) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (VRS: X̅ =8.50, SD=2.12, p<.05) ค่าเฉลี่ยของระดับความเจ็บปวดภายหลังการกดด้วยกระเปาะเย็นที่จุดซานหยินเจียว (SP6) และจุดเหอกู่ (LI4) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (VRS: X̅ =6.35, SD=1.34, X̅=6.25, SD=1.68 ตามลำดับ, p<.05) ข้อสรุปจากงานวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าการกดจุด SP6 และ LI4 ด้วยกระเปาะเย็น เป็นการบรรเทาความเจ็บปวดที่สะดวก มีประสิทธิภาพและปลอดภัยซึ่งพยาบาลผดุงครรภ์หรือผู้ดูแลสามารถนำไปเป็นทางเลือกในการพยาบาลเพื่อบรรเทาความเจ็บปวดให้กับผู้คลอดได้
ที่มา
วารสารวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพ ปี 2559, September-December
ปีที่: 9 ฉบับที่ 3 หน้า 239-249
คำสำคัญ
ระดับความเจ็บปวด, He-gu point (LI4), San yin jiao (SP6), pain perceptions, the first stage of labor, จุดเหอกู่, จุดซานหยินเจียว, ระยะที่หนึ่งของการคลอด