การวิเคราะห์ต้นทุนการใช้เครื่องตรวจและรักษาโรคมะเร็ง ด้วยวิธีการสวนทางหลอดเลือดแดงพร้อมเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
สุรินทร์ อวดร่าง*, ลาวัลย์ เชยชม, นครินทร์ อินมุตโต
โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี 15000
บทคัดย่อ
เครื่องตรวจและรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการสวนทางหลอดเลือดแดงพร้อมเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Interventional radiology-Computed tomography : IVR-CT) เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยวิธี Transarterial chemoembolization (TACE) ซึ่งสามารถหา Hepatic artery ที่มีขนาดเล็กมากๆ หรือกายวิภาคของ Hepatic artery ผิดปกติได้ดีกว่าการเอกซเรย์พิเศษ (Fluoroscopy) อย่างไรก็ตาม เครื่อง IVR-CT มีราคาแพง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการสูงและไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายจากระบบประกันสุขภาพของรัฐ ดังนั้นการพิจารณาความเหมาะสมด้านต้นทุนในการนำเครื่อง IVR-CT มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยวิธี TACE จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคมะเร็งตับ ซึ่งการนำเครื่อง IVR-CT มาใช้ยังไม่มีการศึกษาค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจน การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่รักษาด้วยวิธี TACE โดยใช้เครื่อง IVR-CT ในโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังเพื่อวิเคราะห์ต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับด้วยวิธี TACE โดยใช้เครื่อง IVR-CT ในโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี จำนวน 256 ราย ที่มารักษาในปีงบประมาณ 2556 ในมุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ ผลการศึกษาพบว่าต้นทุนในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่รักษาด้วยวิธี TACE โดยใช้เครื่อง IVR-CT ในโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรีเฉลี่ย 27,875.03 บาทต่อราย แบ่งเป็นต้นทุนคงที่เฉลี่ย 9,415.69 บาทต่อราย และต้นทุนผันแปรเฉลี่ย 18,459.34 บาทต่อราย สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายได้เฉลี่ย 24,221.88 บาทต่อราย จุดคุ้มทุน 419 รายต่อปี การศึกษานี้สรุปได้ว่าการใช้เครื่องตรวจและรักษาโรคมะเร็งด้วยวิธีการสวนทางหลอดเลือดแดงพร้อมเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในการรักษาโรคมะเร็งตับด้วยวิธี TACE เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์แต่ไม่มึว่มคุ้มค่าในการให้บริการ ซึ่งมีข้อจำกัดโดยเฉพาะจำนวนแพทย์เฉพาะทางผู้ให้บริการ ผู้บริหารสถานสุขภาพควรให้การสนับสนุนงบประมาณและบุคลากรในการนำเครื่อง IVR-CT มาใช้ในสถานบริการสุขภาพ และระบบประกันสุขภาพของรัฐควรมีการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายในการนำเทคโนโลยีที่มีประโยชน์มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ เพื่อการให้บริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่ยั่งยืนต่อไป
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2559, November-December ปีที่: 41 ฉบับที่ 6 หน้า 120-125
คำสำคัญ
Cost analysis, การวิเคราะห์ต้นทุน, Interventional Radiology Computed Tomography, IVR-CT, Transarterial Chemoebolization, TACE, รังสีร่วมรักษาเอกซเรย์คอมพิวเตอร์, การให้เคมีบำบัดทางหลอดเลือดแดง