การศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้าดูการเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์หลังผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ Laparoscopic total extraperitoneal repair โดยใช้ภาพถ่ายเอกซเรย์เปรียบเทียบระหว่างวิธียึดกับไม่ยึดตาข่ายสังเคราะห์
ประวิทย์ ตันติวัฒนาศิริกุล
โรงพยาบาลสงฆ์ แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : การยึดตาข่ายสังเคราะห์ในการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบแบบ Laparoscopic total extrapertioneal repair (TEP) ได้รับการยอมรับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นในการป้องกันการเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์และการกลับเป็นซ้ำ อย่างไรก็ตามการยึดตาข่ายสังเคราะห์อาจจะเป็นสาเหตุทำให้เจ็บปวดหลังผ่าตัดมากขึ้นและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในปัจจุบันมีหลายการศึกษาที่พบว่าอัตราการกลับเป็นซ้ำของไส้เลื่อนไม่มีความแตกต่างกันทั้งวิธียึดและไม่ยึดตาข่ายสังคราะห์ แต่การศึกษาโดยตรงเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ของการยึดตาข่ายกับการเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์ยังมีน้อย
                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์หลังการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (TEP) ระหว่างการยึดกับไม่ยึดตาข่ายสังเคราะห์
                วิธีการ : ทำการศึกษาแบบสุ่มไปข้างหน้าในผู้ป่วยทั้งหมด 60 ราย ที่ได้รับการผ่าตัดไส้เลื่อนที่ขาหนีบโดยวิธี TEP ระหว่างเดือนเมษายน 2558 ถึงเดือนเมษายน 2559 โดยสุ่มสลับเรียงกัน แบ่งเป็นกลุ่มที่ยึดและไม่ได้ยึดตาข่ายสังเคราะห์ กลุ่มละ 30 ราย ทำการติดคลิปที่ตกข่ายสังเคราะห์ 4 ตำแหน่งคือ มุมบนด้านใกล้กลาง (superomedial, SM) ตรงกลางตาข่าย (center, C) มุมบนด้านข้าง (superolateral, SL) และมุมล่างด้านใกล้กลาง (inferomedial, IM) ถ่ายภาพเอกซเรย์ทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อหลังผ่าตัดเสร็จที่เวลา 1 และ 3 เดือนหลังผ่าตัดตามลำดับ ทำการเปรียบเทียบการเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์จากภาพถ่ายเอกซเรย์ระหว่าง ครั้งที่ 1 กับ 2 (d1) และครั้งที่ 2 กับ 3 (d2) รวมทั้งศึกษาผลการรักษาอื่นๆ ของทั้งสองวิธี
                ผล : พบว่าการเคลื่อนของคลิปทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันเมื่อเปรียบเทียบที่ระยะเวลาดังกล่าว โดยค่าเฉลี่ยระยะการเคลื่อนของคลิป (เซนติเมตร) ในกลุ่มยึดตาข่ายสังเคราะห์และกลุ่มไม่ยึดตาข่ายสังเคราะห์มีค่าดังนี้ตามลำดับ dSM1 1.32±0.71 กับ 1.27±0.79 (p=0.821), dC1 1.09±0.63 กับ 1.06±0.48 (p=0.848), dSL1 2.02±0.8 กับ 1.88±0.94 (p=0.548), dIM1 0.55±0.45 กับ 0.65±0.47 (p=0.456) และ dSM2 0.19±0.16 กับ 0.21±0.14 (p=0.636), dC2 0.24±0.17 กับ 0.24±0.17 (p=0.849), dSL2 0.33±0.22 กับ 0.33±0.20 (P=0.822), dIM2 0.08±0.12 กับ 0.09±0.10 (p=0.811) พบว่ากลุ่มที่ยึดตาข่ายสังเคราะห์ใช้เวลาผ่าตัดนานกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (68±20 กับ 54±16, p=0.005) โดยที่ความเจ็บปวดหลังผ่าตัด อาการปวดเรื้อรัง ภาวะแทรกซ้อนและอัตราการกลับเป็นซ้ำ ไม่แตกต่างกัน
                สรุป : การผ่าตัด TEP ในไส้เลื่อนที่ขาหนีบขนาดเล็กโดยไม่ยึดตาข่ายสังเคราะห์สามารถทำได้ปลอดภัยและไม่ได้ทำให้ตาข่ายเคลื่อนมากขึ้น
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2560, January-February ปีที่: 42 ฉบับที่ 1 หน้า 79-87
คำสำคัญ
Inguinal hernia, Laparoscopic, TEP, Mesh fixation, Mesh displacement, ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ, ผ่าตัดส่องกล้อง, การยึดตาข่ายสังเคราะห์, การเคลื่อนของตาข่ายสังเคราะห์