การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือความเข้มข้น 0.45% มีประสิทธิภาพ ไม่ด้อยไปกว่าการใช้น้ำเกลือความเข้มข้น 0.9% ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
จิตรดา ทองดี, รัดเกล้า เพชรเกลี้ยง, สุวิชชา ริ้วเหลือง*, เนาวรัตน์ เจียงวัฒนะ
กลุ่มงานโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี แขวงคันนายาว กรุงเทพมหานคร 10230
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง : ในการรักษาโรคภูมิแพ้มีการใช้น้ำเกลือล้างจมูกมาใช้ร่วมกับการรับประทานยา เนื่องจากเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย และทำให้อาการต่างๆ ของจมูกดีขึ้น
                วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินน้ำเกลือล้างจมูกความเข้มข้น 0.45% ว่ามีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าน้ำเกลือ ความเข้มข้น 0.9% ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
                วิธีการ : เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มทดลอง กับกลุ่มควบคุม โดยวัดค่าเวลาการทำงานของเยื่อบุและขนอ่อน อาการทางจมูก และปริมาณการใช้ยากินทั้งก่อนและหลังการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือทั้งสองชนิดภายในระยะเวลา 3 สัปดาห์
                ผล : พบว่าอาการทางจมูกในกลุ่มทดลองดีขึ้นจาก 16.8±6.3 เป็น 5.8±3.8 คะแนน ส่วนกลุ่มควบคุมดีขึ้นจาก 14.5±6.6 เป็น 4.1±2.5 คะแนน ส่วนการกำจัดเสมหะโดยการทำงานของเยื่อบุและขนอ่อนในกลุ่มทดลองดีขึ้นจาก 12.4±6.9 เป็น 8.5±3.8 นาที ในกลุ่มควบคุมดีขึ้นจาก 11.7±7.1 เป็น 7.2±4.3 นาที เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่าง ของค่าเวลาการทำงานของเยื่อบุและขนอ่อน อาการทางจมูก และปริมาณการใช้ยากินยังไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P=0.054, P=0.595, P=0.705)
                สรุป : น้ำเกลือล้างจมูกความเข้มข้น 0.45% มีประสิทธิภาพไม่ด้อยไปกว่าน้ำเกลือ ความเข้มข้น 0.9% ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิแพ้
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2560, January-February ปีที่: 42 ฉบับที่ 1 หน้า 104-111
คำสำคัญ
Nasal irrigation, Allergic rhinitis, Mucociliary clearance, การล้างจมูก, โรคภูมิแพ้อากาศ, การกำจัด, เสมหะโดยการทำงานของซีเลีย