การศึกษาเปรียบเทียบความสำเร็จของการใช้เครื่อง AccuVein AV400 กับการใช้วิธีมาตรฐานในการเปิดหลอดเลือดดำส่วนปลายเพื่อให้สารน้าในกลุ่มผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนซึ่งมารับการระงับความรู้สึกระหว่างผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินโดยวิสัญญีพยาบาลที่มีประสบการณ์
ชลทิชา ศรีภักดี*, ศิรินทิพย์ สว่างวงศ์, ปริฉัตร เคอร์รี่, ศิริวัน ตติยานุพันธ์วงศ์
ภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บทคัดย่อ
 บทนำ : ภาวะอ้วนเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่มีผลต่อความสำเร็จในการเปิดหลอดเลือดดำส่วนปลาย ซึ่งเครื่อง AccuVein AV400 เป็นอุปกรณ์ที่ใช้แสงอินฟราเรดในการช่วยส่องหาหลอดเลือดดำส่วนปลายได้ลึกถึง 10 มิลลิเมตรจากผิวหนัง การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่าการใช้เครื่อง AccuVein AV400 สามารถช่วยเพิ่มความสำเร็จในการเปิดหลอดเลือดดำส่วนปลายในครั้งแรก ซึ่งกระทำในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนได้หรือไม่
                วิธีการศึกษา : ได้มีการแบ่งผู้ป่วย 72 คนที่มีดัชนีมวลกายอย่างน้อย 30 กิโลกรัม/เมตร2 เป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มที่เปิดหลอดเลือดดำโดยนำอุปกรณ์ AccuVein AV400 เข้าช่วย กับกลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐานในการเปิดหลอดเลือดดำส่วนปลาย ซึ่งผู้ที่ทำการเปิดหลอดเลือดดำคือพยาบาลเฉพาะทางวิสัญญีที่มีประสบการณ์ในการเปิดหลอดเลือดดำทั้งหมด 3 คน ผู้สังเกตการณ์จะทำหน้าที่จดบันทึกจำนวนครั้งที่แทงเข็มหรือเปลี่ยนทิศทางเข็ม และระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรัดทูนิเกต์จนกระทั่งเปิดหลอดเลือดดำส่วนปลายสำเร็จหรือล้มเหลว โดยถือการล้มเหลว คือ การแทงเข็มหรือเปลี่ยนทิศทางของเข็มมากกว่า 4 ครั้ง
                ผลการศึกษา : ดัชนีมวลกายของผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน  [33.7 ± 4.6 กิโลกรัม/เมตร2 ในกลุ่มที่ใช้เครื่อง AccuVein AV400 และ 34.0 ± 4.6 กิโลกรัม/เมตร2  ในกลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐาน; (p = 0.77)] และพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญในจำนวนครั้งแรกที่เปิดหลอดเลือดดำสำเร็จระหว่างกลุ่มที่ใช้เครื่อง AccuVein AV400 (ร้อยละ 52.8) กับกลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐาน (ร้อยละ 58.3) (p = 0.81) นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ใช้เครื่อง AccuVein AV400 ใช้ระยะเวลาตั้งแต่รัดทูนิเกต์จนเปิดหลอดเลือดดำสำเร็จ 41.5 (17.5 – 62.5) วินาที (95% Cl, 36.1 – 115.8) ในขณะที่กลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐานใช้เวลา 77 (27 – 120) วินาที (95% Cl, 57.3 – 214.3) (p = 0.12)
                วิจารณ์ และสรุปผลการศึกษา : ถึงแม้ว่าการใช้เครื่อง AccuVein AV400 จะช่วยทำให้เห็นหลอดเลือดดำส่วนปลายชัดเจนขึ้น แต่พบว่าความสำเร็จในการเปิดหลอดเลือดดำในครั้งแรกในผู้ป่วยที่มีภาวะอ้วนระหว่างกลุ่มที่ใช้เครื่อง AccuVein AV400 กับกลุ่มที่ใช้วิธีมาตรฐานไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
            
 
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2559, October-December ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 546-552
คำสำคัญ
Obesity, ภาวะอ้วน, Peripheral venous access, Intravenous cannulation, Near-infrared light, AccuVein AV400, การเปิดหลอดเลือดดำ, อุปกรณ์, อินฟราเรด, เครื่องมือ AccuVein AV400