การวิเคราะห์ต้นทุนต่อหน่วยจากการส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อนของสถาบันโรคระบบทางเดินอาหารและตับ นันทนา-เกรียงไกร โชติวัฒนะพันธุ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์
สุดใจ มณีโชติ*, ซอฟียะห์ นิมะ, บัญชา โอวาทฬารพร
สถาบันโรคระบบทางเดินอาหารและตับ นันทนา-เกรียงไกร โชติวัฒนพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : (1) วิเคราะห์ต้นทุนการทำหัตถการส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน (Endoscopic Retrograde Cholangio-Pancreatography; ERCP) (2) ระบุปัจจัยที่ทำให้เกิดการสิ้นเปลืองในการทำหัตถการ ERCP
                วัสดุและวิธีการ : การศึกษาครั้งนี้ทำการเก็บข้อมูลต้นทุนแบบไปข้างหน้า ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2558 สำหรับการคำนวณต้นทุนการทำหัตถการ ERCP อาศัยวิธีการคำนวณแบบมาตรฐานหรือแบบดั้งเดิม (standard or conventional method) ได้แก่ (1) การคำนวณต้นทุนทางตรง (ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนค่าวัสดุ และต้นทุนค่าลงทุน) (2) การคำนวณต้นทุนทางอ้อมโดยวิธีจัดสรรแบบวิธีจัดสรรโดยตรง (3) การคำนวณต้นทุนรวม (ต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อม) (4) การคำนวณต้นทุนต่อหน่วย
                ผลการศึกษา : จำนวนผู้รับบริการทำหัตถการ ERCP ทั้งหมด 200 ราย เป็นเพศชาย 117 ราย และเป็นเพศหญิง 83 ราย อายุเฉลี่ย (ค่าเฉลี่ย±ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน) เท่ากับ 57.7±17.6 ปี ได้รับการวินิจฉัยเป็น นิ่วในทางเดินน้ำดี 111 ราย ท่อน้ำดีตีบตัน 58 ราย ท่อน้ำดีรั่ว 7 ราย ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง 13 ราย และมีภาวะอื่นๆ 11 ราย ในจำนวนผู้รับบริการทั้งหมดได้รับการทำหัตถการ ERCP ดังนี้ (1) การคล้องนิ่วออก 83 ราย (2) การคล้องนิ่วและใส่ท่อระบายน้ำดี 28 ราย (3) ใส่ท่อระบายน้ำดี 72 ราย (4)ใส่ท่อระบายท่อตับอ่อน 16 ราย และ (5) หัตถการรักษาตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง 1 ราย
                ผลการคำนวณต้นทุนการทำหัตถการ ERCP ได้ยอดรวมทั้งหมด 5,865,736.00 บาท ประกอบด้วย ต้นทุนคงที่ 2,234,221.00 บาท ต้นทุนผันแปรซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนวัสดุ สายแยงท่อน้ำดี สายลวดและสายตัด 1,040,150.00 บาท ท่อระบายท่อน้ำดีและท่อตับอ่อน 732,200.00 บาท อุปกรณ์ขยายท่อน้ำดี คล้องหรือขบนิ่ว 967,150.00 บาท อุปกรณ์การทำหัตถการ ERCP อื่นๆ 28,670.00 บาท ค่าแรง ค่าเวชภัณฑ์และอุปกรณ์สิ้นเปลืองอื่นๆ ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า 863,345.00 บาท ต้นทุนคงที่มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 38 จากการคำนวณต้นทุนการทำหัตถการ ERCP มีค่าเฉลี่ย 30,588.00 บาทต่อราย ต้นทุนต่ำสุด 25,972.00 บาทต่อราย และต้นทุนสูงสุด 109,322.00 บาทต่อราย ต้นทุนอุปกรณ์การทำหัตถการ ERCP เท่ากับ 11,440.00 บาทต่อราย ต้นทุนการทำหัตถการ ERCP สูงกว่าที่จัดเก็บจริง ต้นทุนอุปกรณ์ในกรณีที่ใช้อุปกรณ์ใหม่ทั้งหมดเท่ากับ 39,078.53 บาทต่อราย ต้นทุนอุปกรณ์ในกรณีที่ใช้ของใช้แล้วทั้งหมดเท่ากับ 8,042.21 บาทต่อการทำหัตถการ ERCP ของการคล้องนิ่วเท่ากับ 27,626.00 บาทต่อราย ซึ่งต่ำกว่าต้นทุน ERCP ในผู้ป่วยท่อน้ำตีบตัน 36,117.00 บาทต่อราย
                สรุป : ต้นทุนการทำหัตถการ ERCP สูงกว่ารายได้ที่จัดเก็บได้ เมื่อคิดอัตราค่าบริการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในรายการหัตถการของกรมบัญชีกลาง จึงควรนำต้นทุนคงที่เข้ามาคิดรวมต้นทุนทั้งหมด และควรมีการปรับเปลี่ยนระบบการเบิกจ่ายตามสิทธิ์ให้สอดคล้องกับต้นทุนการทำหัตถการ ERCP โดยที่ผู้รับบริการสามารถรับได้
 
ที่มา
สงขลานครินทร์เวชสาร ปี 2559, November-December ปีที่: 34 ฉบับที่ 6 หน้า 295-307
คำสำคัญ
Unit cost, ต้นทุนต่อหน่วย, ERCP, การส่องกล้องท่อทางเดินน้ำดีและตับอ่อน