ประสิทธิผลของการนวดไทยแบบราชสำนักเพื่อลดอาการปวดศีรษะจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ
วัชรินทร์พร พรหมพิทักษ์, สุภาพร เหงกระโทก, ภูมิณภัทร์ แสงสุมาศ, พรปวีณ์ ตระกูลบ้านมะหิงษ์, อภินันท์ จำเนียร, ณัฐวุฒิ ช่างเหล็ก, เทียมจิต ทองลือ, อังคณา อภิชาติวรกิจ*, วัฒนชัย โชตินัยวัตรกุล, ยงชัย นิละนนท์, อัครินทร์ นิมมานนิตย์, ประวิทย์ อัครเสรีนนท์, ทวี เลาหพันธ์สถานการณ์แพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กรุงเทพฯ 10700
บทคัดย่อ
หลักการและวัตถุประสงค์ : อาการปวดศีรษะจากการเกร็งของกล้ามเนื้อหรือความเครียด พบได้บ่อยในกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง การรักษาด้วยยาบรรเทาอาการปวดและยาคลายกล้ามเนื้ออาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อตับหรือไต การนวดไทยแบบราชสำนักจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาอาการปวด วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อประเมินประสิทธิผลของการรักษาอาการปวดศีรษะจากการเกร็งของกล้ามเนื้อ
ระเบียบวิธีการศึกษา : ผู้ป่วยที่มีอาการปวดศีรษะจากการเกร็งของกล้ามเนื้อหรือความเครียด 104 คน ได้รับการแบ่งกลุ่มด้วยวิธีการสุ่มเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 52 ราย ระยะเวลาในการศึกษา 4 สัปดาห์ กลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานอย่างเดียว กลุ่มศึกษาได้รับการนวดไทยแบบราชสำนัก สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน
ผลการศึกษา : ค่าเฉลี่ยระดับความปวดหลังการรักษาของกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษาคือ 2.24 ± 0.50 และ 1.08± 0.27 ตามลำดับ (P = 0.05) และระดับความปวดที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 50 ของกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษา คือ ร้อยละ 59.62 และ 92.31 ตามลำดับ (P = 0.001) ความถี่ของอาการปวดของกลุ่มควบคุมและกลุ่มศึกษามีค่ามัธยฐานคือ 25 และ 15 ครั้งต่อเดือน ตามลำดับ (P = 0.01)
อธิปรายและสรุปผล : การรักษาด้วยการนวดไทยแบบราชสำนักร่วมกับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานสามารถช่วยลดความปวด และความถี่ของอาการปวดศีรษะจากการเกร็งของกล้ามเนื้อได้มากกว่าการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานเพียงอย่างเดียว
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2560, January-April
ปีที่: 14 ฉบับที่ 1 หน้า 14-20
คำสำคัญ
massage, Headache, Thai traditional massage, pain numeric rating scale, นวด, นวดไทยแบบราชสำนัก, ปวดศีรษะ, ระดับความปวด