ประสิทธิผลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมในเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมายที่มีภาวะซึมเศร้า: การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม
ดาราวรรณ ต๊ะปินตา, สรัญญา วรรณชัยกุล*, สุรินทร์พร ลิขิตเสถียร, หรรษา เศรษฐบุปผา, เพชรสุนีย์ ทั้งเจริญกุลคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเทศไทย
บทคัดย่อ
ภาวะซึมเศร้าของเยาวชนไทยที่กระทำความผิดส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและความสัมพันธ์ทางสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการบำบัดทางจิตได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้การดูแลสุขภาพจิตที่สามารถลดภาวะซึมเศร้า และเพิ่มการเข้าถึงการบำบัดได้มากขึ้น การวิจัยทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมต่อการลดภาวะซึมเศร้าของเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน
กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนที่เข้ารับการบำบัดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 84 คน ที่มีอายุ 14 – 18 ปี ณ วันที่กระทำความผิดและมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนดและได้รับการสุ่มแบบบล็อก เข้ากลุ่มทดลองหรือกลุ่มควบคุมในสัดส่วนที่เท่ากัน โดยกลุ่มทดลองจะได้รับโปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นรวมทั้งกิจกรรมตามปกติของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ขณะที่กลุ่มควบคุมได้รับเฉพาะกิจกรรมตามปกติของศูนย์ฝึกฯ รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามสุขภาพฉบับภาษาไทย ในระยะก่อนและหลังการได้รับโปรแกรม และ 1 และ 2 เดือนหลังสิ้นสุดโปรแกรม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำทางเดียวและการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยสองกลุ่มที่อิสระต่อกัน
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับโปรดแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าภายหลังสิ้นสุดโปรแกรม และ 1 และ 2 เดือนภายหลังการได้รับโปรแกรมต่ำกว่าในระยะก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของภาวะซึมเศร้าทั้งสองกลุ่มพบว่าเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมมีคะแนนเฉลี่ยภาวะซึมเศร้าต่ำกว่าเยาวชนกลุ่มที่ได้รับกิจกรรมตามปกติของศูนย์ฝึกและอบมเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในระยะสิ้นสุดโปรแกรม
ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรมควรได้รับการพิจารณาในการนำไปใช้ในเพื่อลดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนต่อไป
ที่มา
Pacific Rim International Journal of Nursing Research ปี 2560, January-March
ปีที่: 21 ฉบับที่ 1 หน้า 32-43
คำสำคัญ
Depression, Randomized controlled trial, ภาวะซึมเศร้า, การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม, Adolescent, Adolescent offenders, Computerized Cognitive Behavioral Therapy, Juvenile vocational training center, วัยรุ่น, วัยรุ่นที่กระทำผิดกฎหมาย, โปรแกรมคอมพิวเตอร์บำบัดทางความคิดและพฤติกรรม, ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน