ประสิทธิผลของโคมส่องไฟฟลูออเรสเซนต์และกระโจมส่องไฟแอลอีดีในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด
วราลี เดชพุทธวัจน์*, แสงแข ชำนาญวนกิจ
กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเหล้า ถนนราชวิถี กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
 บทนำ : โคมส่องไฟฟลูออเรสเซนต์เป็นเครื่องมือที่ใช้อย่างกว้างขวางในการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด แต่โคมส่องไฟมีขนาดใหญ่ ไม่สะดวกในการเคลื่อนย้าย การสร้างนวัตกรรมกระโจมส่องไฟแอลอีดีอาจเป็นทางเลือกที่สะดวกในการรักษาทารกที่มีภาวะตัวเหลือง
                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิผลในการลดระดับบิลิรูบินในเลือดของทารกที่มีภาวะตัวเหลือง โดยเปรียบเทียบการรักษาด้วยนวัตกรรมกระโจมส่องไฟแอลอีดีกับโคมส่องไฟฟลูออเรสเซนต์
                รูปแบบ : เชิงทดลองแบบสุ่ม
                วิธีการศึกษา : ทำการศึกษาในทารกที่มีภาวะตัวเหลืองและมีข้อบ่งชี้ในการรักษาด้วยการส่องไฟ อายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิดตั้งแต่ 2,500 กรัม คะแนนแอ๊พการ์ที่ 5 นาที มากกว่า 5 และอายุน้อยกว่า 14 วัน ทารกที่เข้าเกณฑ์จะได้รับการจัดกลุ่มโดยวิธีการสุ่มแบบ block of four กลุ่ม 1 รักษาด้วยโคมส่องไฟฟลูออเรสเซนต์ และกลุ่ม 2 รักษาด้วยกระโจมส่องไฟแอลอีดี ประเมินระดับบิลิรูบินในเลือดที่ 12 และ 24 ชั่วโมงภายหลังเริ่มส่องไฟ และที่ 4 ชั่วโมง ภายหลังหยุดส่องไฟ และเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ น้ำหนักลด ไข้ และภาวะตัวเย็น
                ผลการศึกษา : ทารกเข้าร่วมในการศึกษา 154 ราย แบ่งเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 77 ราย สาเหตุของภาวะตัวเหลือง อายุที่เริ่มส่องไฟ และระดับบิลิรูบินในเลือดก่อนส่องไฟไม่แตกต่างกัน อัตราการลดลงของระดับ บิลิรูบินที่ 12 และ 24 ชั่วโมงภายหลังเริ่มส่องไฟ และอัตราการเปลี่ยนแปลงของระดับบิลิรูบินที่ 4 ชั่วโมงภายหลังหยุดส่องไฟไม่แตกต่างกัน ทารกทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันของน้ำหนักที่ลดลง และอัตราการเกิดภาวะไข้หรือภาวะตัวเย็น
                สรุป : กระโจมส่องไฟแอลอีดีมีประสิทธิผลในการลดระดับบิลิรูบินในเลือดเท่าเทียมกับโคมส่องไฟฟลูออเรสเซนต์ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมสำหรับการนำมาใช้ในเวชปฏิบัติเพื่อรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด  
 
 
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2559, July-September ปีที่: 69 ฉบับที่ 3 หน้า 115-121
คำสำคัญ
phototherapy, Neonatal hyperbilirubinemia, LED, ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด, การส่องไฟ, แอลอีดี