ผลของการรับประทานยาลดความดันโลหิตผสมในช่วงเวลาแตกต่างกันต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ไม่ทราบสาเหตุ
ชัญญา ชมเชย, บัญชา สถิระพจน์*
กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเหล้า ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
บทคัดย่อ
 ความเป็นมา : ความดันโลหิตสูงในช่วงเช้าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง การควบคุมความดันโลหิตแต่ละช่วงเวลาของวันจึงเป็นหลักสำคัญในการรักษาความดันโลหิตสูง ช่วงเวลาของการรับประทานยาผสมแบบขนาดคงที่ (fixed-dose combination) ส่งผลต่อระดับความดันโลหิตในแต่ละวัน แต่ผลดังกล่าวยังเป็นข้อถกเถียงกันอยู่
                วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการรับประทานยาผสมระหว่าง amlodipine กับ valsartan ในช่วงก่อนนอนเปรียบเทียบกับการรับประทานยาในช่วงเช้าในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง
                วิธีการศึกษา : เป็นการวิจัยแบบสุ่มแบบเปิด cross-over ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ควบคุมความดันโลหิตได้ดีด้วยยาลดความดันโลหิตสองชนิดมานานมากกว่า 3 เดือน จะถูกสุ่มมารับประทานยา amlodipine 10 มก./วัน กับ valsartan 160 มก./วัน ในช่วงเช้า หรือก่อนนอนเป็นเวลานาน 4 สัปดาห์ จากนั้นสลับเปลี่ยนมารับประทานยาในอีกช่วงเวลาเป็นเวลา 4 สัปดาห์ ความดันโลหิต ผลเลือดทางเมแทบอลิก และผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากยาถูกประเมินทั้งก่อนและหลังทำการศึกษา
                ผลการศึกษา : ผู้ป่วยเข้าร่วมวิจัย 37 รายเป็นความดันโลหิตสูงระดับ 2 แบ่งเป็นเพศชาย 16 ราย เพศหญิง 21 ราย อายุเฉลี่ย 57.0 ± 8.9 ปี และความดันโลหิตเฉลี่ย 133.5 ± 10.4 มิลลิเมตรปรอท ถูกส่งมาเพื่อรับประทานยาลดความดันโลหิตแบบ fixed-dose combination หลังการรักษาสามารถลดความดันโลหิตได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ ความดันช่วงหัวใจบีบตัว และช่วงหัวใจคลายตัวลดลง 4.3 ± 5.6 มิลลิเมตรปรอทตามลำดับหลังรับประทานยาในช่วงเช้า และความดันช่วงหัวใจบีบตัว และช่วงหัวใจคลายตัวลดลง 10.4 และ 8.7 มิลลิเมตรปรอทตามลำดับหลังรับประทานยาก่อนนอน (p < 0.001) ความดันช่วงหัวใจบีบตัวในช่วงเช้าลดลงเมื่อรับประทานยาก่อนนอนมากกว่ารับประทานยาช่วงเช้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ คือ 122.3 ± 9.7 มิลลิเมตรปรอท เทียบกับ 129.2 ± 10.4 มิลลิเมตรปรอท (p = 0.008) แต่ไม่มีความแตกต่างของค่าความดันช่วงหัวใจคลายตัวในช่วงเช้าไม่ว่าจะรับประทานยาดังกล่าวในช่วงเช้าหรือเย็นก็ตามคือ 76.5 ± 9.4 มิลลิเมตรปรอทเทียบกับ 79.6 ± 9.5 มิลลิเมตรปรอท (p = 0.132) นอกจากนี้ไม่มีความแตกต่างของการทำงานของไต เกลือแร่ในเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือดทั้งก่อนและหลังการรักษา และไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงระหว่างการศึกษา
                สรุป : การรับประทานยาลดความดันโลหิตแบบผสมระหว่าง angiotensin receptor blocker กับ calcium channel blocker ก่อนนอนสามารถควบคุมความดันโลหิตในช่วงเช้าได้ตามเป้าหมายของการรักษาได้ดีกว่าการรับประทานยาดังกล่าวในช่วงเช้า          
 
 
ที่มา
เวชสารแพทย์ทหารบก ปี 2559, July-September ปีที่: 69 ฉบับที่ 3 หน้า 123-130
คำสำคัญ
Essential hypertension, Nocturnal hypertension, Chronotherapy, Fixed-dose antihypertensive combination, ความดันโลหิตสูงไม่ทราบสาเหตุ, ภาวะความดันโลหิตสูงในตอนกลางคืน, การรักษาตามช่วงเวลา, การรับประทานยาลดความดันโลหิตแบบผสมขนาดคงที่