ผลการจัดท่า Trendelenburg กลับด้านต่ออุบัติการณ์ความดันเลือดต่ำในการระงับความรู้สึกโดยฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลังสำหรับการผ่าตัดคลอด
ชูทิศ กี่สกุล*, ปริศนา แซ่โง้ว, ปัณฑ์ธีรา เอื้อรักษ์สกุล, เชิดเกียรติ กาญจนรชตะ
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University, 270 Rama 6 Road, Ratchathewi, Bangkok 10400, Thailand; Phone: +66-2-2011513, Fax: +66-2-2011569; E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ : เพื่อพิสูจน์ว่าในผู้ป่วยที่มาทำผ่าตัดผ่าท้องคลอด การจัดท่าผู้ป่วยศีรษะสูง 10 องศา ขณะฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลัง และคงท่านี้ต่อเนื่องในระหว่างผ่าตัดคลอด สามารถลดอุบัติการณ์ความดันเลือดต่ำเมื่อเทียบกับท่านอนราบ
                วัสดุและวิธีการ : ผู้ป่วยที่ได้รับการระงับความรู้สึกโดยการฉีดยาชาเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลังเพื่อการผ่าตัดคลอด ถูกแบ่งเป็นสองกลุ่มโดยการสุ่ม กลุ่มศึกษาผู้ป่วยอยู่ในท่านอนศีรษะสูง 10 องศา ตั้งแต่ช่วงเวลาทำการฉีดยาชาเฉพาะที่จนกระทั่งผ่าตัดเสร็จ ส่วนกลุ่มควบคุมนอนราบเตียงระนาบกับพื้น บันทึกความดันเลือด อุบัติการณ์ความดันเลือดต่ำ ความต้องการยาเอฟีดรีนเพื่อเพิ่มความดันเลือด และระดับการชา เพื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบ
                ผลการศึกษา : พบว่าอุบัติการณ์ความดันเลือดต่ำและปริมาณยาเอฟีดรีนที่ต้องใช้เพื่อคงความดันเลือดในกลุ่มศึกษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 36.36 ต่อ 68.18, p = 0.034 และ 4.36 มก. ต่อ 9.95 มก., p = 0.035 ตามลำดับ) ระดับการชาไม่ต่างกันแต่จำนวนผู้ร่วมการศึกษาในกลุ่มศีรษะสูงต้องถูกปรับระดับศีรษะเพื่อให้ได้ระดับชาเพียงพอมากกว่ากลุ่มนอนราบ
                สรุป : การจัดท่าผู้ป่วยศีรษะสูง 10 องศา ขณะฉีดยาเฉพาะที่เข้าช่องน้ำไขสันหลังและคงท่านี้ต่อเนื่องในระหว่างผ่าตัดคลอด สามารถลดอุบัติการณ์ความดันเลือดต่ำและการใช้ยาเอฟฟีดรีนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับท่านอนราบ และไม่มีผลเสียต่อมารดาและทารก
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2559, December ปีที่: 99 ฉบับที่ 12 หน้า 1322-1327
คำสำคัญ
Spinal anesthesia, Cesarean section, Hypotension, Position, Head-up tilt