การเปรียบเทียบผลการดูแลผู้คลอดครรภ์แรกระหว่างการนวดไทยแบบราชสำนักและการนวดก้นกบ ต่อการลดความเจ็บปวดและลดเวลาในระยะที่หนึ่งของการคลอด โรงพยาบาลมหาสารคาม
ประถมพร มาตย์วิเศษ*, ณัฐจาพร พิชัยณรงค์
คณะสาธาราณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองชนิดสุ่มแบบมีกลุ่มเปรียบเทียบนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการดูแลผู้คลอดครรภ์แรกด้วยการนวดไทยแบบราชสำนักและการนวดก้นกบต่อการลดความเจ็บปวดและลดเวลาในระยะที่หนึ่งของการคลอดที่โรงพยาบาลมหาสารคาม กลุ่มตัวอย่างถูกสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มละ 25 คน กลุ่มทดลองได้รับการนวดไทยแบบราชสำนักและกลุ่มเปรียบเทียบได้รับการนวดก้นกบ โดยใช้เวลานวดข้างซ้าย 15 นาทีและข้างขวา 15 นาที รวมระยะเวลา 30 นาที การเก็บรวบรวม
ข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ซึ่งประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด และส่วนที่ 3 มาตรวัดความเจ็บปวดเปรียบเทียบด้วยสายตา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ประกอบด้วย Paired samples t-test Independent samples t-test Chi-square test และ 95% CI กำหนดระดับนัยสำคัญที่ p<0.05 ผลการศึกษา พบว่าภายหลังการทดลองกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเจ็บปวดลดลงกว่ากลุ่มเปรียบเทียบอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.285) โดยกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความเจ็บปวดลดลงกว่ากลุ่ม
เปรียบเทียบ 0.27 คะแนน ร้อยละผู้คลอดที่มีความเจ็บปวดลดลงหลังการทดลอง พบว่า ทั้ง 2 กลุ่ม ไม่แตกต่างกัน (p=0.098) และกลุ่มทดลองใช้เวลาเฉลี่ยในระยะปากมดลูกเปิดเร็วสั้นกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.023) จึงควรนำการนวดไทยแบบราชสำนักไปประยุกต์ใช้เป็นทางเลือกในการดูแลผู้คลอด เพื่อช่วยลดความเจ็บปวดและช่วยลดเวลาในระยะที่หนึ่งของการคลอด
 
ที่มา
วารสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปี 2559, July-August ปีที่: 35 ฉบับที่ 4 หน้า 451-458
คำสำคัญ
Court-type Thai traditional massage, Primigravida, ผู้คลอดครรภ์แรก, นวดไทยแบบราชสำนัก, sacrum massage, นวดก้นกบ