ผลของการกดจุดเหอกู่และจุดซานหยินเจียวต่อการลดความเจ็บปวดของมารดาในระยะที่ 1 ของการคลอด
สร้อย อรุสรณ์ธีรกุล*, พักตร์วิไล ศรีแสง, นิภาพรรณ มณีโชติวงศ์, วิไลลักษณ์ ปิยะวัฒนพงศ์
Department of Advanced Midwifery, Faculty of Nursing, Khon Kaen University
บทคัดย่อ
การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการกดจุดต่อความเจ็บปวดในระยะที่ 1 ของการคลอดในมารดาที่ไม่เคยผ่านการคลอด จำนวน 57 คน ที่ศูนย์อนามัย 6 ขอนแก่น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ๆ ละ 19 คน กลุ่ม 1 ได้รับการกดจุดเหอกู่ นาน 20 นาที กลุ่ม 2 ได้รับการกดจุดซานหยินเจียว นาน 20 นาที และ กลุ่ม 3 เป็นกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการกดจุดใดๆ ประเมินความเจ็บปวดด้วยแบบประเมินด้วยสายตาเมื่อมดลูกหดรัดตัว 3 ครั้ง ได้แก่ ก่อนการทดลอง หลังการกดจุดทันที และหลังการกดจุด 30 นาที วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ one way ANOVA และ repeated measure ANOVA ผลการวิจัยพบว่า คะแนนความเจ็บปวดภายในกลุ่ม หลังการกดจุดเหอกู่และจุดซานหยินเจียวทันที คะแนนความเจ็บปวดน้อยกว่าก่อนการทดลอง (p<.05) ส่วนกลุ่มควบคุมพบว่าหลังการทดลองคะแนนความเจ็บปวดมากกว่าก่อนการทดลอง (p<.05) คะแนนความเจ็บปวดระหว่างกลุ่ม หลังการกดจุดเหอกู่และจุดซานหยินเจียวคะแนนความเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน (p>.05) และหลังการกดจุดซานหยินเจียวคะแนนความเจ็บปวดน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (p<.05) แต่หลังการกดจุดเหอกู่คะแนนความเจ็บปวดไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม (p>.05)
 
ที่มา
วารสารพยาบาลศาสตร์และสุขภาพ ปี 2559, July- September ปีที่: 39 ฉบับที่ 4 หน้า 85-97
คำสำคัญ
labor pain, hegu acupressure, sanyinjiao acupressure, การกดจุดเหอกู่, การกดจุดซานหยินเจียว, ความเจ็บปวดในระยะคลอด